โลกตื่นตะลึง รัฐประหารล้มเหลวทำเลือดนองตุรกี ทหารแตกแถวเคลื่อนรถถัง ส่งเครื่องบินรบถล่มกรุง หมายยึดอำนาจปกครองจากผู้นำอัตตาธิปไตย แต่เจอปลุกพลังมวลชนต่อต้าน ทหารปะทะประชาชนดุเดือดในหลายเมืองส่งผลล้มตายรวมไม่ต่ำกว่า 250 ศพ รัฐบาลโทษนักการศาสนาอิสลามในสหรัฐบงการเบื้องหลัง ไล่กวาดจับทหารกบฏได้เกือบ 3,000 นาย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประเทศสมาชิกองค์การนาโตที่มีประชากร 80 ล้านคนแห่งนี้เกิดความโกลาหลวุ่นวายอีกครั้ง เมื่อทหารพยายามใช้กำลังก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากประธานาธิบดีเรเจป เทยิป แอร์โดอาน ผู้นำอัตตาธิปไตยที่ครองอำนาจมานาน 13 ปี ความพยายามยึดอำนาจเริ่มต้นขึ้นเมื่อค่ำวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ทหารก่อการได้เคลื่อนกำลังและรถถังเข้ายึดสถานที่สำคัญในกรุงอังการาเมืองหลวง โดยมีเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 คอยสนับสนุน ทหารยังได้เข้ายึดสะพาน 2 แห่งที่ข้ามช่องแคบบอสฟอรัสในนครอิสตันบูล เมืองใหญ่อันดับสองของตุรกี และยังเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์ทีอาร์ที เพื่อใช้เป็นช่องทางประกาศการยึดอำนาจปกครอง ช่วงเวลานั้นประธานาธิบดีแอร์โดอานกำลังพักผ่อนอยู่ที่เมืองมาร์มาริส เมืองตากอากาศในภาคตะวันตกเฉียงใต้
ก่อนเที่ยงคืนของวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่น หรือก่อนเช้าตรู่วันเสาร์ของไทย คณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่า “สภาเพื่อสันติภาพในมาตุภูมิ” ได้ประกาศเคอร์ฟิวและกฎอัยการศึกทั่วประเทศ โดยกล่าวว่าพวกตนได้ยึดอำนาจปกครองไว้แล้ว เพื่อสร้างความมั่นใจและรื้อฟื้นความสงบเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ, ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพ
การก่อการของทหารแตกแถวกลุ่มนี้สร้างความโกลาหลวุ่นวายใน 2 เมืองใหญ่ และอีกหลายเมืองของตุรกี ประธานาธิบดีแอร์โดอานซึ่งใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางถ่ายทอดสารของเขาต่อประชาชน ได้เรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเขาออกมาชุมนุมบนท้องถนนเพื่อต่อต้านการยึดอำนาจ จากนั้นเขารีบกลับมายังอิสตันบูล และเผยด้วยว่า ฝ่ายกบฏได้โจมตีทางอากาศถล่มที่เมืองมาร์มาริสหลังจากเขาเดินทางออกมาแล้ว เมื่อมาถึงสนามบินที่อิสตันบูล แอร์โออานกล่าวท่ามกลางผู้สนับสนุนมารอต้อนรับว่า พวกที่ก่อการครั้งนี้เป็นพวกกบฏและขายชาติ ที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนราคาแพง
ชาวตุรกีที่ตอบรับเสียงเรียกร้องของผู้นำได้พากันออกมาชุมนุมโบกธงชาติและขับไล่ทหารทั้งที่อังการาและอิสตันบูลตลอดคืนวันศุกร์ ส่วนทหารฝ่ายที่จงรักภักดีได้โจมตีตอบโต้ฝ่ายกบฏ ซึ่งใช้รถถัง เฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบยิงถล่มอาคารและสถานที่หลายแห่ง รวมถึงอาคารรัฐสภาและอาคารของทำเนียบประธานาธิบดี ที่รัฐสภานั้นพวกผู้แทนต้องหนีปืนใหญ่ของรถถังไปซ่อนในห้องหลบภัยภายในอาคาร ส.ส.ฝ่ายค้านรายหนึ่งเผยกับรอยเตอร์ว่า รัฐสภาถูกโจมตี 3 ครั้ง และมีคนบาดเจ็บหลายราย
ทหารฝ่ายที่ภักดีต่อรัฐบาลได้นำเครื่องบินเอฟ-16 ออกมาโจมตีต่อต้านรถถังของฝ่ายกบฏ และมีรายงานของผู้บัญชาการทหารว่า เครื่องบินขับไล่สามารถยิงเอลิคอปเตอร์ของฝ่ายกบฏตก 1 ลำที่กรุงอังการา
มีเสียงปืนยิงปะทะกันดังขึ้นด้านนอกศูนย์บัญชาการตำรวจในนครอิสตันบูล รถถังหลายคันได้ควบคุมสนามบินที่นี่ด้วย ส่วนที่สะพานข้ามช่องแคบนั้น ช่างภาพเอเอฟพีรายงานว่า เห็นทหารยิงปืนใส่ฝูงชนที่มาชุมนุมขับไล่ใกล้สะพานแห่งหนึ่ง มีคนเจ็บหลายสิบราย ที่จัตุรัสตักซิมกลางนครอิสตันบุลเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีการปะทะอย่างดุเดือด เสียงปืนและเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว การปะทะกันยังเกิดขึ้นประปรายในบางพื้นที่จนถึงช่วงเช้า หลังจากความพยายามก่อรัฐประหารล้มเหลว ทหารที่ร่วมก่อการต่างยอมจำนน
ด้านนายกฯ บินาลี ยิลดิริม ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งคืนวันศุกร์ว่าเป็น “รอยมลทินต่อประชาธิปไตยของตุรกี” ได้แถลงภายหลังสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติในวันเสาร์ว่า สถานการณ์อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิงแล้ว พร้อมกับเปิดเผยว่า มีผู้สังเวยชีวิตในเหตุการณ์นี้ 161 ราย และบาดเจ็บ 1,440 ราย เอเอฟพีรายงานว่า จำนวนผู้เสียชีวิตนี้ไม่รวมถึงทหารกบฏ 104 นายที่ถูกสังหารเมื่อคืน และทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตครั้งนี้มีถึง 265 ราย
ก่อนหน้านั้น พลเอกอูมิต ดันดาร์ ซึ่งรักษาการตำแหน่งเสนาธิการทหารภายหลังเสนาธิการทหารตัวจริงถูกฝ่ายกบฏควบคุมตัวไว้ ได้ประกาศว่า พวกนายทหารจากกองทัพอากาศ, สารวัตรทหาร และหน่วยยานหุ้มเกราะ เป็นกองกำลังหลักที่ก่อการในครั้งนี้
ประธานาธิบดีแอร์โดอานได้กล่าวถึง “โครงสร้างคู่ขนาน” ซึ่งหมายถึงเฟตตุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาอิสลามที่ใช้ชีวิตลี้ภัยในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ ว่าอยู่เบื้องหลังการก่อรัฐประหารครั้งนี้ ผู้นำมุสลิมรายนี้เคยเป็นพันธมิตรของเขาแต่ภายหลังกลับกลายเป็นศัตรู เขาถูกกล่าวหาว่ายังคงมีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังหลายสถาบันในตุรกี อย่างไรก็ดี กูเลนปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง และได้กล่าวประณามรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง
นายกฯ ยิลดิริมได้กล่าวพาดพิงถึงสหรัฐที่ให้ที่พักพิงแก่นักการศาสนารายนี้ ที่เขาเรียกว่า “ผู้นำองค์กรก่อการร้าย” โดยยิลดิริมระบุว่า ประเทศใดก็ตามที่อยู่เบื้องหลังเขาถือว่าเป็นใช่มิตรประเทศของตุรกี และกำลังทำสงครามร้ายแรงกับตุรกี
ด้านจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนลักเซมเบิร์ก ร้องขอให้ตุรกีส่งหลักฐานที่เชื่อมโยงว่ากูเลนอยู่เบื้องหลังรัฐประหารครั้งนี้มาให้สหรัฐ
ตุรกีได้เรียกร้องต่อรัฐบาลกรีซให้ส่งตัวทหารกบฏกลับมายังตุรกีด้วย ภายหลังมีรายงานว่า เฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กของตุรกีนำทหารฝ่ายกบฏ 8 นายไปขอลี้ภัยทางการเมืองที่กรีซ
การก่อรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นเพียง 2 สัปดาห์ให้หลังการก่อการร้ายโจมตีสนามบินอะตาเติร์กของนครอิสตันบูล สังหารผู้คนมากกว่า 40 ราย โดยกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) อ้างว่าอยู่เบื้องหลัง
แอร์โดอานเริ่มขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2546 ต่อจากนั้นเขาชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีในปี 2557 ฝ่ายต่อต้านเขามักวิจารณ์ว่าแอร์โดอานได้ทำลายรากฐานความเป็นรัฐอาณาจักรของตุรกีสมัยใหม่ และกำลังนำพาประเทศนี้เข้าสู่ลัทธิอำนาจนิยม เขายังดำเนินการกวาดล้างทหารฝ่ายที่คัดค้านเขาทำให้เขาสามารถควบคุมกองทัพไว้ได้
ทั้งนี้ กองทัพตุรกีที่เคยทรงอิทธิพลถือว่าตนทำหน้าที่พิทักษ์รัฐอาณาจักรแห่งนี้ ซึ่งก่อตั้งโดยมุสตาฟา เคมัล อะตาเติร์ก เมื่อปี 2466 โดยนับแต่ปี 2503 กองทัพตุรกีเคยก่อรัฐประหารมาแล้ว 3 ครั้ง ไม่รวมการก่อรัฐประหารยุคโพสต์โมเดิร์นที่กองทัพเข้าแทรกแซงและบีบให้รัฐบาลอิสลามพ้นอำนาจเมื่อปี 2540
ความพยายามยึดอำนาจครั้งนี้สร้างความตกตะลึงทั่วโลก ผู้นำหลายประเทศในโลกตะวันตกได้พากันเรียกร้องให้ตุรกีกลับคืนสู่ภาวะปกติ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในตุรกีสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย กองกำลังนาโตขอเคารพสถาบันประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ ส่วนรัฐบาลรัสเซียแสดงความห่วงกังวลอย่างยิ่งว่าจะกระทบต่อเสถียรภาพในภูมิภาคและในระดับสากล ในช่วงยามที่ตุรกียังเผชิญภัยคุกคามจากการก่อการร้ายและภูมิภาคนี้ยังมีการสู้รบอยู่ ขณะที่รัฐบาลอิหร่านกล่าวว่า เหตุการณ์ในตุรกีพิสูจน์ว่าการก่อรัฐประหารไม่มีที่ยืนหยัดในปัจจุบัน
รัฐบาลตุรกีพยายามควบคุมสถานการณ์คืนสู่ความสงบในวันเสาร์ สนามบินอะตาเติร์กที่ระงับการบินชั่วคราวระหว่างความสับสน เริ่มกลับมาเปิดใช้งาน แต่รัฐบาลสหรัฐได้แถลงว่า สหรัฐสั่งระงับเที่ยวบินไปยังตุรกีทั้งหมด และห้ามสายการบินทุกสายบินจากตุรกีเข้ามายังสหรัฐด้วย
เอเอฟพีรายงานว่า ไม่เพียงสายการบินของสหรัฐเท่านั้น สายการบินลุฟต์ฮันซาของเยอรมนีก็ยังคงยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดมายังอิสตันบูลและอังการาในวันเสาร์ สายบริติชแอร์เวย์ยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดทั้งขาไปและขามาจากตุรกี
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับจากประชุมผู้นำอาเซม ที่มองโกเลีย ว่าดูข่าวแล้ว ดูจากช่องซีเอ็นเอ็น ก็ขอแสดงความเสียใจกับผู้ที่สูญเสีย ซึ่งทางกระทรวงการต่างประเทศได้รายงานมาว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ประมาณ 160 คน และบาดเจ็บประมาณ 1,400 คน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของปัญหาภายในประเทศของเขา เราก็ต้องให้กำลังใจเขา ตนได้สั่งให้ดูแลคนไทยที่มีอยู่หลายร้อยคนให้มีความปลอดภัย และให้ทางสถานทูตไทยในตุรกีเตรียมแผนในการขนย้ายคนหากจำเป็น เพราะทุกประเทศก็เตรียมไว้แบบนี้ ซึ่งที่ประชุมอาเซมก็มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่ไม่ได้พูดอะไรกันมากนัก เพราะทุกคนต่างรักษามารยาทจะไปหามาตรการการพูดคุยกันต่างหากอีกที เราก็อยู่ในหน้าที่และแสดงความเห็นกันไม่ได้อยู่แล้ว เอาประเทศเราให้รอดก่อน
เมื่อถามว่าจะมีการนำคนไทยที่อยู่ในตุรกีกลับประเทศหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จะกลับมาทำไมถ้าไม่มีอันตราย เพราะเขาก็ต้องทำงานหรือเรียนอยู่ที่ตุรกี ปัญหาก็คือเขาอยากกลับหรือไม่ อยากกลับไปถามเขาโน่น หากจะกลับเมื่อไหร่ก็กลับได้ เครื่องบินก็พร้อม เอาการบินไทยไปรับกลับมา ที่สำคัญเขาไม่ยอมกลับไปบังคับเขาได้ไหมเล่า เราต้องมีเหตุผลด้วยเวลาถาม
นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ว่ากำลังติดตามสถานการณ์ดังกล่าว โดยล่าสุดทางการตุรกีได้แถลงว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ในเบื้องต้นไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว ทั้งนี้ ปัจจุบันมีคนไทยอยู่ในตุรกีประมาณทั้งสิ้น 424 คน และเป็นนักเรียนไทยที่ไปศึกษาที่ตุรกีทั้งสิ้น 198 คน.