คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จัดงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงปมกรณีข่าวลือตามที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ได้นำเสนอข่าว “นักลงทุนจีนกว้านซื้อมหาวิทยาลัยไทย” โดยปรากฎชื่อ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี”เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ได้ขายหุ้น 49% ให้กับนักลงทุนจีนนั้น โดย “ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ยันยืนไม่ขายเด็ดขาด
ผศ.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร กล่าวในนาม ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง และไม่เคยได้รับการทาบทามจากนักลงทุนจีนในการขายหรือการโอนหุ้นของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีแต่อย่างใด ที่สำคัญมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีมีผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงรายเดียว และจดทะเบียนจัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยใช้ชื่อ “ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล” เท่านั้น การเข้ามาถือหุ้นของชาวต่างนั้นจึงไม่สามารถทำได้แน่นอน
“นอกจากนั้นธุรกิจในเครือไม่ได้มีเฉพาะสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ยังมีสถานศึกษาอื่น ๆ ในเครืออีก เช่น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่สำคัญมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรียังมีความแข็งแกร่งทางการเงินอย่างมากอีกด้วย”
ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มีพนักงานและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ1,000คน นักศึกษารวมประมาณเกือบ 10,000 คน ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาจีน 300-500 คน มหาวิทยาลัยรับสมัครนักศึกษาตามระเบียบข้อบังคับ เราไม่เพียงแต่รับสมัครนักศึกษาชาวจีนแต่ยังรับสมัครนักศึกษาจากประเทศแถบอาเซียน
“เกี่ยวกับปมข่าวลือที่ว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีจ่ายค่าเล่าเรียนก็สามารถเรียนจบรับใบปริญญา,เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ตามหลักความเป็นจริงถ้าจ่ายเงินแล้วไม่มาเรียน สอบคะแนนไม่ผ่านตามเกณฑ์ก็ไม่สามารถเรียนจบตามเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดได้ ทางมหาวิทยาลัยของเราให้ความสำคัญกับการพัฒนานักเรียน และเน้นคุณภาพการศึกษา”
ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า เป้าหมายของมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ ความเชี่ยวเฉพาะด้าน มหาวิทยาลัยเรามีทีมบุคลากรการศึกษามืออาชีพ ไม่แพ้มหาวิทยาลัยอื่น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีมี1 6คณะ 58 หลักสูตร และในปี 2563 จะเปิดคณะทันตแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ เพิ่มเติม เพื่อรองรับนักศึกษาที่มีความต้องการที่หลากหลายอีกด้วย
“ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยยังมีความ “มั่นคง“ ในทุกด้าน และมีความพร้อมที่จะให้บริการด้านการศึกษาอย่างครบวงจรอีกด้วย ขอยืนยันว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะไม่เคยแม้กระทั่งเจรจากับนักลงทุนรายใดทั้งสิ้น และมุ่งมั่นจะทำเรื่องการศึกษาและทำมาตั้งแต่โรงเรียนมาเป็นวิทยาลัย ล่าสุดได้พัฒนามาจนเป็นมหาวิทยาลัย และเรายังมีวิทยาลัยอีก 2 แห่ง รวมถึงโรงเรียนสาธิตอีกด้วย”
เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันที่บางมหาวิทยาลัยในประเทศไทยโดนนายทุนชาวจีนซื้อ เราคิดว่าการศึกษาไม่ใช่ธุรกิจ แต่ถ้าโดนนายทุนซื้อไปแล้ว ก็หวังว่าการเรียนการสอนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการกำหนด ทางมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ทำงานด้านการศึกษาเป็นเวลา 40 กว่าปี ขอรับรองว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างชาติอย่างแน่นอน เราหวังว่ารัฐบาลจะให้ความใส่ใจต่อการพัฒนาของมหาวิทยาลัยเอกชน