“บิ๊กตู่”ร่วมพิธีเปิดการประชุม ASEM ครั้งที่ 11 ที่มองโกเลีย พร้อมกล่าวถ้อยแถลง ในหัวข้อการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนของ ASEM เสนอแนวคิด 4 เชื่อมโยงเพื่อความร่วมมือระหว่าง 2 ภูมิภาค ให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน เจริญก้าวไปข้างหน้าด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ย้ำสถานการณ์การเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมประชุมผู้นำเอชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม ที่ กรุงอูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ว่า เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 15 กรกฎาคม ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง นายกฯเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้นำเอเชีย ยุโรป ครั้งที่ 11 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงอูลานบาตอร์
โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึง ได้จับมือทักทายและถ่ายภาพร่วมกับนายซักเคีย แอลแบคดอร์จ ประธานาธิบดีมองโกเลีย จากนั้น เข้าร่วมการพบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน ASEM ประกอบด้วย รัฐสภา ภาคธุรกิจ เยาวชน และภาคประชาสังคม
นายกฯกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะหัวข้อการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนของอาเซมเพื่อความเชื่อมโยงที่กว้างขวางยิ่งขึ้น ว่า ในโอกาสที่อาเซมครบรอบ 20 ปี และจะก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3 ซึ่งตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาอาเซมได้ช่วยเชื่อมโยงให้เอเชียและยุโรปมีความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ในทศวรรษที่ 3 อาเซมควรขับเคลื่อนความเชื่อมโยงให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นทั้งด้านกายภาพและด้านที่จับต้องไม่ได้ และได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคทั้งสอง ร่วมกันดึงดูดจุดแข็งของกันและกันเพื่อทำให้เกิดความเจริญเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
“ความเชื่อมโยงทางกายภาพที่สำคัญ คือการเชื่อมเครือข่ายการขนส่งและการคมนาคมระหว่างประเทศสมาชิกอียูของยุโรป ของจีนและความเชื่อมโยงกันของอาเซียน จะช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งระหว่างกันแต่ต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบเชิงลบจากการเชื่อมโยง เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์และอาชญากรรมข้ามชาติที่จะตามมา ส่วนความเชื่อมโยงที่จับต้องไม่ได้ อาทิ ความเชื่อมโยงด้านดิจิตัล ด้านกฎระเบียบ ด้านความมั่นคง ด้านการท่องเที่ยว เป็นความเชื่อมโยงที่สำคัญเช่นกัน เพราะจะทำให้ประชาชนมีโอกาสใกล้ชิดและทำความเข้าใจมากขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเสนอแนวคิดความเชื่อมโยงอาเซม 4 ประการ คือ 1. การเชื่อมโยงเพื่อร่วมกันรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ และภัยพิบัติ ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน ซึ่งสามารถทำได้โดยการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี 2. การเชื่อมโยงประชาชนสู่ประชาชน ด้วยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา และการท่องเที่ยว รวมถึงแนวปฏิบัติที่ช่วยส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ อาทิ การเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งประเทศไทยพยายามส่งเสริมเรื่องนี้และมีความร่วมมือกับหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย 3. การเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ที่เน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุควบคู่กับการพัฒนา โดยคำนึงถึงศักยภาพและความพร้อมของแต่ละประเทศ ซึ่งไทยได้นำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนา เพื่อให้เอเชียและยุโรปร่วมมือกันบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและปฏิญญาอูลานลาตอร์เกิดผลเป็นรูปธรรม และ 4.การเชื่อมโยงเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ การรื้อฟื้นการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอาเซม เพื่อหารือความเป็นไปได้ของเขตการค้าเสรีเอเชียและยุโรป ซึ่งจะนำไปสู่การค้า การลงทุนและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม
นายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย ว่า มีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าเมื่อครั้งเข้ามารับตำแหน่ง และจะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของไทยเท่านั้น แต่เพื่อทุกประเทศในภูมิภาค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 16.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง นายกรัฐมนตรี ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับผู้นำที่เข้าร่วมการประชุม จากนั้นออกเดินทางไปยัง Chinggisiin Khuree Complex เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม ชมการแสดงการแข่งขันกีฬาพื้นเมืองของมองโกเลีย