“ประยุทธ์” งัด ม.44 คุ้มครอง กสทช.-กสท. สั่งปิดทีวี-วิทยุที่เสนอข่าวก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครอง กระทบความมั่นคง ไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่ง-อาญา “สุภิญญา” ปลุกองค์กรสื่อแสดงจุดยืนถ่วงดุลอำนาจ กสทช.ครวญอาจลาออกก่อนครบวาระ “เทพชัย” ยันสื่อต้องมีเสรีภาพช่วงประชามติ จี้ คสช.ทบทวน “จตุพร” ดักทางหากศาลปกครองไม่คุ้มครองพีซทีวีเป็นผลจากคำสั่ง คสช.
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 41/2559 ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง การกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ระบุว่า ตามที่ คสช.ได้ออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม
โดยประกาศ คสช.ฉบับที่ 103/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 เพื่อกำหนดห้ามการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารบางประเภทนั้น โดยที่ข้อมูลข่าวสารตามประกาศดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ออกอากาศ ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551
ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดปัญหาในการรับรู้และความเข้าใจในการกำกับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของผู้ประกอบการไปสู่ประชาชน ทั้งในส่วนของประเภทของข้อมูลข่าวสารที่ต้องห้ามและมาตรการที่จะนำมาใช้ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จึงจำเป็นต้องกำหนดให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้การเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระตามข้อ 3 (1) ถึง (7) ของประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของ คสช. และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ลงวันที่ 18
กรกฎาคม 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เป็นการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 37 แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 แล้วแต่กรณี
ข้อ 2 ในกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าว ได้กระทำการไปตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น เพื่อควบคุมดูแลมิให้มีการเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามข้อ 1 นับแต่วันที่ประกาศตามข้อ 1 มีผลใช้บังคับย่อมได้รับความคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ขณะเดียวกัน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ทวิตเตอร์ @supinya หลังจาก หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ให้ กสทช.ปิดสื่อว่า องค์กรสื่อ วิชาชีพสื่อ อุตสาหกรรมสื่อ ควรแสดงจุดยืนต่อคำสั่ง คสช. เพื่อการถ่วงดุลอำนาจของ กสทช. ให้สื่อใช้สิทธิ์สู้ในศาลต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง ศาลอาญา หรือ ศาลแพ่ง เพราะเป็นการต้องรับผิดชอบกับการใช้อำนาจของรัฐอย่างเป็นธรรมของรัฐ ตามกระบวนการ Rule of Law ปัจจุบัน กสทช.มีอำนาจกำกับสื่อได้อยู่แล้ว แต่ต้องใช้อำนาจอย่างรอบคอบ มีการถ่วงดุล ถ้ามี ม.44 มาปกป้องจะทำให้ กสทช. ใช้อำนาจได้แบบแรงขึ้นอีก
น.ส.สุภิญญาระบุว่า กสท.ใช้อำนาจสั่งปิดพีซทีวีไปแล้ว ส่วน ม.44 วันนี้เป็นการรองรับไม่ให้เสียงข้างมากต้องรับผิดตาม ม.157 ตนเป็นเสียงข้างน้อยแต่แรก การมีเสียงค้านใน กสท.ยังสำคัญมาก เพราะที่ผ่านมาสถานีที่ถูกสั่งปิดใช้ความเห็นของตนไปอ้างในการโต้แย้งคำสั่งและที่ศาลปกครอง ถ้า กสท.ข้างมากแพ้ในศาลปกครอง อาจถูกฟ้องอาญา ม.157 ได้ แต่วันนี้ คสช.ออกคำสั่งคุ้มครองเสียงข้างมากที่สั่งปิดแล้ว ถ้าไม่มีความเห็นต่างใน กสท. และ กสทช. ทางสื่อที่ถูกปิด จะสู้ที่ศาลปกครองยากกว่านี้อีกมาก
“เอกสารของพีซทีวีอ้างข้อมูลจากดิฉันทุกครั้ง จนทำให้ตกเป็นเป้าแทนแล้ว คิดอยู่เหมือนกันว่าจะลาออกดีไหม อาจอยู่ได้ไม่ครบวาระ ซึ่งสรุป มีความเป็นไปได้ที่ดิฉันจะหยุดเองก่อนครบวาระ ถ้าส่วนตัวแบกรับความกดดันในทางการเมืองและอื่นๆ ในฐานะฝ่านค้านใน กสท.ไม่ไหวเอง” น.ส.สุภิญญาระบุ
ด้านนายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในบรรยากาศก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคน โดยเฉพาะสื่อ ควรมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นเพื่อให้สังคมมีข้อมูลรอบด้านที่สุด ในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้นการมีคำสั่งนี้ออกมา ก็ทำให้สื่อมีความรู้สึกว่าไม่สามารถทำหน้าที่ได้ อยากให้ คสช.ทบทวนเรื่องนี้ เพราะปกติ กสทช.ก็มีกระบวนการที่จะบริหารจัดการกับผู้รับใบอนุญาตอยู่แล้ว มีกติกาที่ชัดเจน มีกระบวนการที่จะอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง ถ้าจะบอกว่าปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยก็ควรมีกระบวนการแบบนั้นอยู่
“ผมไม่แน่ใจว่า คสช.หรือ กสทช.มีข้อตกลงอะไรกันอยู่หรือเปล่า มันก็ทำให้บทบาทของ กสทช.ที่เป็นองค์กรอิสระถูกมองว่าถูกแทรกแซง และยิ่งทำให้คนตั้งคำถามถึงร่างกฎหมาย กสทช. ที่ขณะนี้อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าจะทำให้มีความเป็นอิสระแค่ไหน” นายเทพชัยกล่าว
ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า คำสั่งล่าสุดที่จะให้ปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวี 30 วัน มาจากรายการข่าวที่เอาสิ่งที่ตนพูดไปออกอากาศว่า “ให้ชาติเป็นตัวตั้ง ให้ประชาชน และทหารปรับทัศนคติเข้าหาชาติ” ถ้อยคำนี้ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองหรือกระทบต่อความมั่นคงหรือไม่ ช่องการเมืองทุกช่องมีเนื้อหาสาระหนักกว่าช่องพีซทีวีด้วยซ้ำ เกินความจำเป็นหรือเกินกว่าเหตุหรือไม่ ถ้าเกินก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง
ประธาน นปช.ระบุว่า ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ ศาลปกครองจะนัดไต่สวนฉุกเฉินระหว่างพีซทีวีกับศาลปกครอง และตนในฐานะที่ถูกกล่าวหาว่าพูดแล้วถูกรายการเอาไปออก ก็จะเดินไปให้ถ้อยคำกับศาลปกครองด้วย จึงถือว่ายังไม่มืดมนหรือไม่มีทางออก แม้ว่า คสช.จะไม่ออกประกาศ ม.44 อำนาจในการปิดสถานีโทรทัศน์ก็เป็นของ กสทช.อยู่แล้ว ตั้งแต่การเพิกถอนใบอนุญาต ครั้งนี้ศาลปกครองได้ให้การคุ้มครอง และที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้งไม่ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
“ความจริงต้องบอกว่าการได้รับการปฏิบัติจาก กสทช. หรือ กสท. ที่ปฏิบัติต่อพีซทีวี เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะฉะนั้นการประกาศ ม.44 เพื่อให้คุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่มิชอบอันนี้ คิดเป็นอื่นไม่ได้ หากไม่ได้รับการคุ้มครอง ทุกคนจะนึกว่าเป็นผลมาจากคำสั่งฉบับนี้ ไม่เป็นผลดีกับผู้นำ คสช.หรือรัฐบาล คนเป็นผู้นำต้องจิตใจให้เป็นธรรม” นายจตุพรกล่าว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานไม่มีอะไรคุ้มครอง บางครั้งถูกฟ้อง เราจึงออกคำสั่งคุ้มครอง เพราะถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิของสถานีโทรทัศน์ที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย เพราะถ้าทั้งสองหน่วยงานเลือกปฏิบัติ ลำเอียง หรือสองมาตรฐาน สามารถฟ้องได้เช่นกัน และ กสทช.กับ กสท.เองไม่มีอำนาจทำอะไรตามอำเภอใจ ไม่มีอำนาจกระทำเกินกว่าเหตุด้วย การออกคำสั่งดังกล่าว ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวีไปฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากได้พิจารณาคำสั่งนี้มานานแล้ว แต่เพิ่งประกาศใช้ และมาตรการนี้จะไม่ส่งผลต่อบรรยากาศการทำประชามติ รวมทั้งจะไม่ส่งผลกระทบต่อสื่ออื่น.