อาจารย์ภูธร ภูมะธน นักวิชาการผู้ชำนาญด้านประวัติศาสตร์ไทย ได้เล่าความเป็นมาตลาดล่างให้กับทีมข่าวศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี ว่า“ย่านตลาดล่าง” เป็นชุมชนที่มีการตั้งถิ่นฐานเก่าแก่ซึ่งสามารถสืบย้อนไปได้ถึงช่วงสมัยอยุธยา ดังปรากฏ ในแผนทีประวัติศาสตร์ฉบับต่างๆ ด้วยมีทำเลที่ตั้งในชัยภูมิที่สำคัญอย่างยิ่ง จึงเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการพัฒนาเมืองลพบุรีมาแต่ครั้งอดีต และหากพิจารณาดูจากลักษณะทางภูมิศาสตร์จะพบว่าด้วยภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำลพบุรี และเป็นจุดบรรจบกันของเส้นทางน้ำ ๓ สาย คือ แม่น้ำลพบุรี กับคลองบางขันหมากหรือห้วยมูล ทว่าในระยะหลังศูนย์กลางของเมืองได้ย้ายไปยังพื้นที่เมืองใหม่ที่ได้รับการวางผังใหม่ ซึ่งทำให้ชุมชนตลาดล่างที่เคยทำหน้าที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าและผู้คนต้องโรยลาลงประจวบกับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำลพบุรีตรงเหนือชุมชนตลาดล่างและตรงเกาะวัดมณีชลขันธ์ซึ่งเป็นการปิดเส้นทางสัญจรทางน้ำลงโดยสิ้นเชิง สำหรับทำเลที่ตั้งชุมชนตลาดล่างนั้น เป็นชัยภูมิสำคัญสำหรับการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างชุมชนต่างๆที่ใช้แม่น้ำลพบุรีเป็นหลักเนื่องจากแม่น้ำลพบุรีแยกออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลม่วงหมู่ จังหวัดสิงห์บุรี ไหลมาทางตะวันออกเฉียงใต้มายังตัวเมืองลพบุรี ซึ่งนอกเหนือจากการเชื่อมต่อยังเมืองต่างๆ ทางฟากตะวันตกของเมืองลพบุรี
ดังกล่าวข้างต้น ยังมีแม่น้ำบางขามซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ แต่ทว่าในอดีตมีความสำคัญมากเนื่องจากไหลขึ้นไปทางเหนือไปยังพื้นที่แถบจันเสนซึ่งเป็นเมืองโบราณในสมัยทวารวดีซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครสวรรค์ด้วย เมื่อแม่น้ำบางขามมาบรรจบกับแม่น้ำลพบุรีแล้วไหลผ่านเกาะวัดมณีชลขันธ์ และไหลลงใต้ผ่านชุมชนตลาดล่างผ่านพระนารายณ์ราชนิเวศน์ลงใต้ไปเรื่อยๆ จนบรรจบกับแม่น้ำหันตรา และแม่น้ำป่าสักทางตอนเหนือของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา จากเครือข่ายของแม่น้ำลำคลองที่กล่าวมานั้นได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขายของเมืองลพบุรี และชุมชนตลาดล่างด้วยนั่นเอง
จากการศึกษาแผนที่ประวัติศาสตร์จะพบว่า บริเวณย่านประวัติศาสตร์ชุมชนตลาดล่างมีการตั้งถิ่นฐานสำหรับการประกอบพาณิชยกรรมมาก่อนพ.ศ. ๒๒๐๐ โดยปรากฏผ่านแผนที่เก่าที่วิศวกรชาวฝรั่งเศสได้จัดทำขึ้นหลังจากนั้น เมื่อสิ้นสุดของรัชสมัยพระนารายณ์เมืองลพบุรีมีบทบาทที่ลดลงไปหาก แต่ยังคงมีการตั้งถิ่นฐานสืบต่อมาจวบจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่ย่านตลาดล่างได้ปรากฏขึ้นในเอกสารสำคัญของราชการอีกครั้ง ต่อมิติของการอพยพเคลื่อนย้ายประชากรชาวจีน เข้ามาตั้งถิ่นฐานและมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจและสังคมกับพื้นที่ เพราะพื้นที่ตลาดล่างซึ่งเคยเป็นย่านพาณิชยกรรมที่สำคัญของลพบุรีนั้น มีการสันนิษฐานว่ามีกลุ่มคนจีนเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อใช้สำหรับการทำการค้า โดยข้อสันนิษฐานถึงกรณีการตั้งถิ่นฐานโดยกลุ่มคนจีน คาดว่าเกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้ารัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากหลักฐานทางเอกสารที่เคยบันทึกถึงการแต่งตั้งพนักงานของรัฐในการควบคุมดูแลพื้นที่ดังกล่าว ปรากฏในเอกสารราชการที่ชื่อ “ร่างตราสารเรื่องให้อ่ำแดงเอียจีนห้อเป็นกำนันตลาดเมื่อ จ.ศ. ๑๒๐๙” (พ.ศ. ๒๓๙๐) และเอกสารในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีการร่างตราสาร“ร่างตราสารตั้งจีนเสียงทำบ่อนเบี้ยในเมืองลพบุรี” และ “จีนโตทำอากรบ่อนเบี้ยจีนที่ลพบุรี” (สุดารา, ๒๕๕๕: ๕๕)นอกจากนี้ยังพบข้อเขียนของขุนประเสริฐสหกรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่เขียนถึงพื้นที่ดังกล่าวว่า“ทางทิศเหนือของพระราชวังมีตลาดขายของอยู่หย่อมหนึ่ง ภายในตลาดเป็นที่ตั้งของบ่อนการพนันด้วย โรงบ่อนพวกนี้คนจีนได้ผูกขาดจากรัฐบาลมาตั้งขึ้น เจ้าของบ่อนเรียกขุนพัฒ ลูกน้องล้วนเป็นจีนแทบทั้งสิ้น” ทั้งนี้ สิ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองประวัติศาสตร์ลพบุรี คือ การมาถึงของรถไฟที่สร้างเส้นทางเชื่อมต่อมาจากชุมทางบ้านภาชีจนมาถึงเมืองลพบุรีเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔ ต่อมาได้สร้างทางรถไฟสายเหนือต่อเนื่องขึ้นไปยังปากน้ำโพธิ์ (ประกาศกระทรวงโยธาธิการ, ร.ศ. ๑๒๔:๙๘๙-๙๙๐) ดังในประกาศวันที่ ๒ สิงหาคม ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ตั้งข้าหลวงจัดซื้อที่ดินทำทางรถไฟสายเหนือต่อจากลพบุรีถึงปากน้ำโพ อันเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในบริเวณของชุมชนเมืองในเมืองสำคัญที่อยู่ในเส้นทางของแนวรถไฟของหัวเมืองต่างๆ ในประเทศไทย เช่น เมืองในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และการเคลื่อนย้ายประชากรชาวจีนครั้งใหญ่ไปตั้งถิ่นฐานยังที่ต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.๒๔๖๕ – ๒๔๗๕ (อาทิตย์, ๒๕๕๕:๑๔๒) การมาถึงของรถไฟนอกจากจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนยังได้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ชุมชนตลาดล่างที่แต่เดิมอาศัยแม่น้ำลพบุรีเป็นเส้นทางคมนาคมเดียวในการเชื่อมต่อสินค้าและผู้คนเข้าสู่เมือง ได้ถูกเส้นทางรถไฟที่ตัดผ่านแนวคูเมืองด้านทิศตะวันออกของเมือง เข้ามาเติมเต็มรูปแบบการคมนาคมทางบก อย่างไรก็ตามการมาถึงของรถไฟยังไม่ได้ลดบทบาทความสำคัญของการเป็นย่านการค้าเก่าลงในเวลานั้น เนื่องด้วยย่านตลาดล่างเป็นย่านพาณิชย์ที่สำคัญและเชื่อมต่อกับย่านการค้าใหญ่อีก ๒ แห่งของเมืองซึ่งวางตัวเรียงขนานกับแนวลำน้ำและขนานประชิดกับแนวกำแพงและสถานที่สำคัญทางศาสนาของเมือง โดยมี “ถนนพระราม”เป็นถนนสำคัญที่มีความยาวเลียบกำแพงเมืองด้านนอกขนานกับแม่น้ำลพบุรียาวตั้งแต่ถนนประตูชัยขึ้นมาจนสุดที่ตลาดท่าโพธิ์ เชื่อมย่านการค้าทั้ง ๓ เข้าด้วยกัน คือ “ชุมชนตลาดหน้าศาลลูกศร”และ“ตลาดท่าขุนนาง”และมี“ตลาดท่าโพธิ์”อยู่ในส่วนปลายสุดของถนนพระราม และชุมชนการค้าเหล่านี้ยังมีท่าเรืออยู่ประจำในชุมชนด้วย โดย“ตลาดท่าโพธิ์”ที่ตั้งอยู่ด้านบนที่สุด ทางทิศเหนือ ในตำแหน่งของหัวถนนพระราม บริเวณป้อมท่าโพธิ์ ป้อมปราการที่อยู่ทางทิศเหนือของเมืองบริเวณจุดบรรจบของน้ำ ป้อมปราการโบราณที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในเมืองลพบุรี หากแต่ในช่วงพ.ศ.๒๕๐๘ ความเป็นตลาดท่าเรือในบริเวณนี้เริ่มโรยราลงไปเพราะการสัญจรทางน้ำได้ลดความสำคัญลง เนื่องจากการสัญจรทางบกไปได้สะดวกและลำน้ำตื้นเขิน พอถึงช่วงพ.ศ. ๒๕๑๐ เรือที่แล่นรับส่งคนโดยสารหายไปจนหมด ท่าขุนนางและท่าน้ำหน้าตลาดลูกศรจึงอยู่ในสภาพเงียบเหงา ร้างโรยรา และความเปลี่ยนแปลงต่อลักษณะทางกายภาพที่สำคัญ กับพื้นที่ชุมชนตลาดล่างและบริบทใกล้เคียง คือ การเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๑ เวลาราว ๐๒.๐๐ น. โดยต้นเพลิงเกิดขึ้นจากร้านเจียวน้ำมันหมูบนกระทะใบใหญ่ เปลวเพลิงลุกลามไปยังฝาผนังของร้านที่เป็นไม้ ส่งผลให้ห้องข้างเคียงซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ทำจากไม้เกิดไฟลุกต่อเนื่องไป นับเป็นอัคคีภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งทำให้เรือนแถวชุมชนตลาดล่างด้านใต้ได้รับความเสียหายมากที่สุด รวมทั้งพื้นที่ถัดจากสามแยกซอยคูเมือง และชุมชนตลาดหน้าศาลลูกศร เพลิงลุกลามไปจนถึงตลาดท่าขุนนางรวมมีบ้านเรือนสูญเสียไปกว่า ๓๐๐ หลังคาเรือนประชาชนไม่มีที่อยู่อาศัยนับพันคน ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ภูมิทัศน์ย่านประวัติศาสตร์ตลาดล่าง และเมืองประวัติศาสตร์ลพบุรีอย่างอยากรุ่งเรืองในอดีต
ด้าน อาจารย์ภูธร ภูมะธน นักวิชาการผู้ชำนาญด้านประวัติศาสตร์ไทย. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า
ข้อมูลจาก วารสารวิชาการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ ๑๕ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ประจำปี ๒๕๕๙
กุลพัชร์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา และ เกรียงไกร เกิดศิริ
แผนที่ผังเมืองละโว้ (Grundteigningaf Staden Louvo) ที่เขียนโดย มองสิเออร์ เดอ ลา มาร์ (M. de La Mare) วิศวกรชาวฝรั่งเศส ผู้ซึ่งเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๒๓๐ ตรงกับปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เครดิตภาพถ่ายชุมชนตลาดล่าง Kittirat Kanjanaprakasit
ธเนศ วงศ์ใหญ่ สนอง แท่นสูงเนิน พรเทพ ศรีสมุทร ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี