ความเคลื่อนไหวของกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ขยับเข้าใกล้ไทยมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อมีการเผยแพร่หนังสือพิมพ์ออนไลน์ทั้งภาษาอินโดฯ และภาษามาเลย์ เพื่อสื่อสารกับบรรดาผู้สนับสนุนของตน โดยมีรายงานว่ามีการแจกจ่ายหนังสือพิมพ์ที่ว่านี้ครอบคลุมพื้นที่ทางภาคใต้ของไทยด้วย
หนังสือพิมพ์เบริตา ฮาเรียนของมาเลเซีย รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า หนังสือพิมพ์ภาษามลายูของไอเอส ซึ่งใช้อักขระเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารทั้งในอินโดนีเซียและมาเลเซีย ใช้ชื่อว่า “อัล ฟาติฮิน” เปิดตัวขึ้นทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยคำว่า “อัล ฟาติฮิน” มีความหมายว่า “ผู้พิชิต”ในภาษาอารบิก และยังมีการนำออกแจกจ่ายในสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และทางภาคใต้ของไทยด้วย
เว็บไซต์ข่าว “มาเลย์ เมล ออนไลน์” รายงานอ้างคำพูดจากผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงรายหนึ่งว่า หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าไอเอสกำลังให้ความสนใจมาเลเซียอยู่
ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์จากสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศ เอส ราชารัตนัม ในเครือมหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยีของสิงคโปร์มองว่า ชื่อของหนังสือพิมพ์อัล ฟาติฮิน บ่งชี้ให้เห็นว่า เป็นหนังสือพิมพ์ที่ออกมาสำหรับ “นักรบต่างชาติ” ที่พำนักอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย
หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไอเอสที่ใช้ภาษามาเลย์และอินโดฯ มี 20 หน้า เผยแพร่ออกมาในช่วงเวลาที่พอดีกับเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ เนื้อหาเป็นการเรียกร้องให้ก่อเหตุญิฮาดต่อศัตรูและคนนอกศาสนา, เผยแพร่ข้อมูลความเคลื่อนไหวของกลุ่ม, สถิติการก่อเหตุของนักรบของกลุ่มในซีเรีย นอกภูมิภาค และในฟิลิปปินส์ รวมทั้งมีแผนภาพจังหวัดและสาขาของไอเอสทั่วโลก
ก่อนหน้านั้น สาขาของกลุ่มไอเอสในฟิลิปปินส์ ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอเกี่ยวกับกลุ่มติดอาวุธในประเทศ 4 กลุ่มที่ประกาศสวามิภักดิ์ต่อไอเอส พร้อมชักชวนประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมกลุ่มในฟิลิปปินส์ สนับสนุนด้านการเงิน และก่อเหตุเพียงลำพัง ที่เรียกว่า “โลนวูล์ฟ” เพื่อโจมตีภายในประเทศของตน ต่อผู้นำประเทศที่เป็นทรราช พรรคการเมือง และเน้นการทำลายศักยภาพทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่เป็นศัตรู
ความเคลื่อนไหวของไอเอสที่ขยับเข้าใกล้ไทย โดยเฉพาะมาเลเซีย เพื่อนบ้านรั้วติดกัน ซึ่เมื่อไม่นานมานี้ทางการมาเลเซียก็ยอมรับว่าเหตุระเบิดที่บาร์แห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศ เป็นการกระทำของสมาชิกไอเอส หลังจากเคยยอมรับมาแล้วว่ามีชาวมาเลเซียเดินทางไปร่วมรบกับไอเอสในซีเรีย
เหตุนี้เองมาเลเซียจึงเขย่ามาตรการรักษาความปลอดภัยขนานใหญ่ ครอบคลุมจุดเปราะบาง 3 ด้าน คือ ด้านกายภาพ ด้านการเผยแพร่แนวคิดอุดมการณ์ และด้านความร่วมมือกับองค์กรต่างประเทศ
ในด้านกายภาพ มาเลเซียเพิ่มความเข้มงวดในการลาดตระเวนชายแดนทุกด้าน รวมถึงชายแดนทางภาคเหนือที่ติดกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะรัฐกลันตันซึ่งมีช่องทางผ่านแดนทางธรรมชาติเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นก็เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานีรถไฟหลักในกรุงกัวลาลัมเปอร์ สนามบิน และมัสยิดสำคัญ รวมทั้งสัญลักษณ์ทางศาสนา มีการติดตั้งกล้องซีซีทีวีและเครื่องสแกนบุคคลเพิ่มขึ้นตามสถานีขนส่งและคมนาคมทั้งทางบก เรือ อากาศ
ส่วนการเผยแพร่อุดมการณ์ของไอเอส มาเลเซียใช้วิธีส่งเจ้าหน้าที่ไปพบปะกับนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของรัฐอิสลาม สั่งควบคุมสื่อทุกแขนงไม่ให้เปิดพื้นที่แก่กลุ่มก่อการร้าย และรณรงค์แนวคิดอิสลามสายกลาง พร้อมปรับทัศนคติพวกที่มีแนวคิดสุดโต่ง และติดตามความเคลื่อนไหวของผู้สนับสนุนไอเอสทางสื่อสังคมออนไลน์แบบกัดไม่ปล่อย
ขณะที่การจับมือกับองค์กรนอกประเทศนั้น มาเลเซียให้น้ำหนักไปที่องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ซึ่งมีสมาชิกเป็นชาติมุสลิมถึง 56 ประเทศ โดยเสนอให้โอไอซีเปิดประชุมนัดพิเศษเพื่อหารือเกี่ยวกับเหตุระเบิดพลีชีพ และแนวทางรับมือกับภัยคุกคามของไอเอส รวมทั้งกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ