นายเจริญ พิมพ์ขาล ผู้ช่วยเกษตรจังหวัดลพบุรี ได้ให้ข้อมูลว่าตามที่พี่น้องชาวลพบุรี ร่วมใจกันผลักดันกระท้อนตะลุงเข้าสู่กระบวนการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indication : GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น บัดนี้กระท้อนลพบุรีได้การรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) แห่งแรกของโลก และได้ออกใบรับรองให้กับพี่น้องที่ปลูกกระท้อนในตำบลตะลุง และตำบลใกล้เคียง เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่ากระท้อนลพบุรีบ้านเรามีรสชาติดีที่สุดในโลก ๓ พันธุ์ คือ อีล่า ปุยฝ้าย และทับทิม มีเกษตรกรผ่านการรับรอง ๙๒ ราย
กระท้อนเป็นไม้ผลเขตร้อนยืนต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทนแล้งได้ดี และเป็นผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะใน ๓ ตำบลของอำเภอเมืองลพบุรี คือ ตำบลโพธิ์เก้าต้น ตำบลตะลุง และตำบลงิ้วราย ซึ่งเป็นพื้นที่ “น้ำไหลทรายมูล” เพราะอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี
๑. พันธุ์อีล่า (หรือปุยฝ้ายเกษตร) เป็นกระท้อนพันธุ์พื้นเมืองจังหวัดปราจีณบุรี ซึ่งชาวบ้านตำบล ตะลุงได้รับแจกสายพันธุ์มาจากกระทรวงเกษตร (หลังน้ำท่วมลพบุรีครั้งใหญ่ เมื่อปี ๒๕๓๘) เมื่อยังไม่แก่จัดจะมีรสอมเปรี้ยว และผลกระท้อนจะมีขนาดใหญ่มาก (บางผลนักถึง ๙ ขีด) ผิวไม่เรียบ สีโทนเหลืองสด ผลคล้ายเป็นจุก รสอมเปรี้ยวเมื่อยังไม่แก่จัด หากผลแก่รสชาติจะหวานมีปุยเหมือนปุยฝ้าย มักจะสุกช้ากว่ากระท้อนทุกพันธุ์ (เป็นที่มาของชื่ออีล่า)
๒. พันธุ์ปุยฝ้าย ซึ่งกำนันอุ่ม ทวีวัฒน์เป็นผู้นำสายพันธุ์มาจากจังหวัดนนทบุรีมาปลูกที่ตำบลตะลุงเป็นคนแรกเมื่อกว่า ๔๐ ปีที่แล้ว เปลือกนิ่ม เนื้อจนถึงเปลือกรสชาติหวานอมเปรี้ยว (รสกลมกล่อม) ไม่ฝาด และเมล็ดจะมีปุยมากกว่าสายพันธุ์อื่น เมื่อทานไปแล้วจะเหมือนว่าปุยกระท้อนละลายในปาก รสหวานอร่อย เป็นที่นิยมบริโภคมากที่สุด จึงเป็นกระท้อนที่จําหน่ายได้สูงสุด ขนาดของผลมีตั้งแต่เล็กไปถึงใหญ่ สีเหลืองนวลสวย ผลกลมแป้น
๓. พันธุ์ทับทิม เป็นกระท้อนพันธุ์เมืองดั้งเดิมของตำบลตะลุง แต่ไม่มีคนรู้จักมากนัก เนื่องจากมีชาวสวนที่ปลูกกระท้อนพันธุ์ทับทิมไม่มาก แต่ด้วยรสชาติที่มีรสหวาน ลักษณะผลกลม มีขนาดไม่ใหญ่มาก สีเหลืองนวล ผิวกระท้อนเรียบเนียนสวย เปลือกนิ่ม ผลกลม
กระท้อนเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง นอกจากจะกินเป็นผลไม้สดแล้วผลกระท้อนยังใช้ทำอาหารคาวหวานได้หลายชนิด ทั้งอาหารคาว เช่น แกงฮังเล แกงคั่ว ผัด ตำกระท้อน และอาหารหวาน เช่น กระท้อนทรงเครื่อง กระท้อนลอยแก้ว กระท้อนดอง แยม กระท้อนกวน และซอสกระท้อน เป็นต้น
จังหวัดลพบุรี ได้จัดงานเทศกาล “เทศกาลกระท้อนหวานและของดีเมืองลพบุรี” ขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ (๒๕๖๒) เป็นครั้งที่ ๒๘ กำหนดจัดในวันที่ ๕-๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองลพบุรี และที่สำคัญเนื่องจากนายอำเภอเมืองลพบุรี (นายศรีชัย ตัณฑะโสภณ) ซึ่งเป็นนายอำเภอนักรณรงค์ในการแก้ปัญหาแอลกอฮอล์ของจังหวัดลพบุรี ดังนั้น จึงเป็นการจัดงานเทศกาลที่ปลอดเหล้าและการพนันทุกชนิด ธเนศ วงศ์ใหญ่
สนอง แท่นสูงเนิน
ไพรัตน์ ทองแก้ว
พรเทพ ศรีสมุทร. ข่าว/ภาพ ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ จังหวัดลพบุรี