โดยก่อนหน้า ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ยังได้ พบปะกลุ่มบริหารจัดการน้ำชลประทาน ณ บริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี พร้อมทั้งลงพื้นที่ ติดตามการดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 10 บริเวณรอยต่อของ จังหวัดลลพบุรี และ สระบุรี ประกอบด้วย โครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก ตั้งอยู่ในพื้นที่ ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง และ โครงการฝายบ้านซับตะกอง ตั้งอยู่บริเวณหมู่ที่ 12 บ้านซับตะกอง ตำบลลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
สำหรับโครงการฝายบ้านซับตะกอง มีลักษณะเป็นฝายทดน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กพร้อมระบบส่งน้ำ ความสูง 3.50 เมตร ยาว 34 เมตร ระบบคลองด้านหน้าฝายระยะทางประมาณ 1.50 กิโลเมตร ก่อสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนน้ำ สำหรับการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ในพื้นที่ และเป็นโครงการที่นำ Agri-map มาดำเนินการออกแบบระบบส่งน้ำ ตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ส่งมอบภารกิจให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลลำพญากลางเป็นผู้ดูแล
ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก มีลักษณะเป็นเขื่อนดินแบ่งโซน กว้างประมาณ 9 เมตร สูงประมาณ 44 เมตร ยาวประมาณ 1,157 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 61 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำด้วยท่อฝั่งขวาและฝั่งซ้าย ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานกว่า 25,500 ไร่ ในเขตอำเภอวังม่วง ทั้งยังใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปาที่สำคัญในเขตเทศบาลตำบลวังม่วงด้วย ปัจจุบันระบบส่งน้ำฝั่งขวาดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ สำหรับส่งให้พื้นที่ชลประทานกว่า 5,500 ไร่ ส่วนระบบส่งน้ำฝั่งซ้ายอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างตามแผน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 นี้ หากก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถส่งน้ำสำหรับพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานได้กว่า 20,000 ไร่ ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว และยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรในอำเภอวังม่วง เนื่องจากพื้นที่มีระดับสูงเกินกว่าที่จะส่งน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขึ้นไปได้
ในส่วน ของสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ยังคงหน้าเป็นห่วง เนื่องจากมีปริมาณน้ำน้อย ถึงจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้วก็ตาม อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบัน ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2562 มีปริมาตรน้ำในอ่าง 125 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 13 ของความจุเก็บกักสูงสุดที่ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำในอัตรา 15 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือประมาณวันละ 1.32 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ด้านท้ายเขื่อน ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ควบคุม (Rule Curve) ในการบริหารจัดการน้ำของอ่างฯ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ทั้งนี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถือ เป็นแหล่งน้ำต้นทุน 1 ใน 4 เขื่อนหลัก ของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งกรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการระบายน้ำจากเขื่อน ทั้ง 4 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จำนวนรวมทั้งสิ้น 4,400 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้มีมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ อย่างเป็นระบบ โดยกำหนดให้เริ่มการส่งน้ำ ให้กับพื้นที่ลุ่มต่ำตอนล่าง รวมจำนวน 1.15 ล้านไร่ ใน 12 ทุ่ง เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปีใน 2562 เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมดประมาณสิ้นเดือนสิงหาคม 2562 และใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก ในช่วงฤดูฝนอีกด้วย
………(ปล่อยเสียงสัมภาษณ์) ใจรัก. วงศ์ใหญ่. ข่าว. สมชาย. เกตุฉาย. ภาพ ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ. จังหวัดลพบุรี.