นักวิทยาศาสตร์พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ HD 131399Ab มีดาวฤกษ์ในระบบถึง 3 ดวง วงโคจรกว้างกว่าดาวพลูโต 2 เท่า ทำให้แต่ละฤดูกินเวลายาวนานกว่า 300 ปี
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 เว็บไซต์ฮัฟฟิงตันโพสต์ของอังกฤษ รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์เผยการค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ HD 131399Ab ดาวเคราะห์ก๊าซอายุน้อย (ประมาณ 16 ล้านปี) ที่มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดี 4 เท่า โคจรอยู่ในระบบดาวฤกษ์ 3 ดวง ที่ห่างจากระบบสุริยะ 340 ปีแสง
สำหรับตำแหน่งของดาวเคราะห์ HD 131399Ab ในระบบนั้น โคจรรอบดาวฤกษ์ HD 131399A (ดาวฤกษ์ A) เพียงดวงเดียว ในระยะห่างประมาณ 2 เท่าของระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์-ดาวพลูโต ส่วนดาวฤกษ์อีก 2 ดวง ได้แก่ HD 131399B (ดาวฤกษ์ B) และ HD 131399C (ดาวฤกษ์ C) นั้นโคจรรอบกันแบบดาวคู่ อยู่ห่างจากดาวฤกษ์ A ไกลออกไปอีก โดยห่างไปประมาณ 8-10 เท่าของระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์-ดาวพลูโต
แม้ว่านี่จะไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการค้นพบระบบดาวที่มีดาวฤกษ์ 3 ดวงแบบนี้ แต่ HD 131399Ab ก็ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประหลาดใจไม่น้อย เพราะระยะห่างของมันกับดาวฤกษ์ A นั้น ถือเป็นระยะห่างที่มากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในระบบดาว 3 ดวง พวกเขายังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมดาวเคราะห์ขนาดใหญ่และเพิ่งเกิดใหม่ดวงนี้จึงโคจรอยู่ไกลจากดาวฤกษ์ของมันมากมายขนาดนั้น แถมน่าแปลกที่ดาวฤกษ์ B และ C ที่อยู่ห่างออกไป ไม่เหวี่ยงมันออกจากวงโคจรเลย ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้อาจจะก่อตัวขึ้นใกล้กับดาวฤกษ์ B และ C ก่อนจะเกิดปรากฏการณ์บางอย่างที่ทำให้วงโคจรของมันเริ่มเปลี่ยน จนมาอยู่ตำแหน่งดังกล่าว
แน่นอนดาวเคราะห์ HD 131399Ab ไม่น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนนั้น แต่ถ้าหากลองจินตนาการว่าเราอยู่กันบนดาวดวงนั้นได้ มนุษย์ก็จะได้เห็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่แตกต่างจากบนโลกอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือแต่ละวันจะเห็นดวงอาทิตย์ 3 ดวง และมีช่วงที่กลางวันกินเวลายาวนานต่อเนื่อง ดวงอาทิตย์ดวงหนึ่งเพิ่งตกไป ดวงอาทิตย์คู่อีก 2 ดวงก็จะโผล่ขึ้นมาให้เห็นแทนที่ ขณะที่แต่ละฤดูกาลจะกินเวลายาวนานถึง 300 ปีเลยทีเดียว