เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ – ไต้หวันเริ่มดำเนินการออกแบบเรือดำน้ำโจมตี ซึ่งมีแผนสร้างขึ้นเองเป็นลำแรกในประเทศ โดยตั้งเป้าสร้างเสร็จในอีก 8 ปีข้างหน้า
นายพลเรือโท เหมย จยาซู่ เสนาธิการประจำกองบัญชาการกองทัพเรือของไต้หวันกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติว่า กองทัพไต้หวันกำหนดแผนการออกแบบเรือดำน้ำโจมตีแล้วเสร็จภายในปี 2562 และก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567
ด้านนายเฟิง สือควน รัฐมนตรีกลาโหมระบุว่า “แรงกดดันจากภายนอก” เป็นปัจจัยและปัญหาท้าทายใหญ่สุด ที่ทำให้เกิดโครงการนี้ ซึ่งเขาหมายถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ถือว่า ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่ง ที่แยกตัวออกไป และควรกลับเข้ามาผนวกเหมือนเดิม
โครงการก่อสร้างเรือดำน้ำโจมตีอยู่ในแผนการเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพเรือ ระยะเวลา 15 ปี และสร้างอุตสาหกรรมกลาโหมของไต้หวันให้แข็งแกร่ง โดยมีการประกาศแผนการนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2557 และกระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งกองกำลังเฉพาะกิจเมื่อเดือนมิ.ย. เพื่อผลักดันโครงการให้รุดหน้า
นายพลเรือโทเหมยระบุว่า กองทัพเรือวางแผนขอแบบพิมพ์เขียวจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้ออกแบบและต่อเรือดำน้ำเครื่องยนต์ดีเซล 2 ลำให้ไต้หวัน หลังจากไม่มีชาติใดเต็มใจทำให้ เนื่องจากกลัวผลกระทบจากจีนตามมา โดยกองทัพเรือจีนมีการเซ็นสัญญากับบริษัทดัตช์เมื่อต้นปี เพื่อนำแบบพิมพ์เขียวนั้นมาเป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างเรือดำน้ำ โดยมอบหมายให้ศูนย์อุตสาหกรรมเรือและมหาสมุทร อาร์แอนด์ดี ( Ship and Ocean Indistries R&D Centre) เป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบ และให้สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชุง-ซานแห่งชาติ ( National Chung-Shan Institute of Science & Technology) เป็นผู้ติดตั้งระบบการโจมตี
เขายังไม่เปิดเผยเกี่ยวกับบริษัทผู้ต่อเรือ แต่สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า กองทัพเรือไต้หวันมีแผนมอบหมายให้บริษัท ซีเอสบีซี คอร์ป ไต้หวัน เป็นผู้ดำเนินการ โดยไต้หวันสามารถสร้างระบบใบพัดของเรือดำน้ำได้ร้อยละ 70 ตัวเรือด้านนอกร้อยละ 50 ระบบเครื่องยนต์ร้อยละ 30 และระบบการต่อสู้ร้อยละ 30
นอกจากนั้น กองทัพเรือไต้หวันยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากชาติอื่น ๆ ที่มีความสามารถในการต่อเรือดำน้ำ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ แต่ยังมิได้ระบุว่า เป็นชาติใด โดยสหรัฐฯ ซึ่งตกลงขายเรือดำน้ำ 8 ลำให้ไต้หวันเมื่อปี 2544 ได้สัญญาช่วยไต้หวันสร้างเรือดำน้ำโจมตี อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงขายเรือดำน้ำฉบับดังกล่าวล้มเหลวในเวลาต่อมา เนื่องจากแรงกดดันทางด้านการเมืองและเทคนิค
ด้านส.ส. ผู้หนึ่งของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ ดีพีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล เตือนว่า กองทัพเรือไต้หวันไม่ควรประสบความล้มเหลวเหมือนกรณีของออสเตรเลีย ที่เสียทั้งเวลาและเสียเงินทองอยู่นานในการพยายามต่อเรือขึ้นเองในประเทศ แต่สุดท้ายต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาล เพื่อว่าจ้างบริษัทด้านการทหารของฝรั่งเศสเป็นผู้ต่อเรือให้ในที่สุด ซึ่งเพิ่งมีการทำข้อตกลงกันไปเมื่อเร็ว ๆ นี้