สีสันการแห่หงส์บวชนาคในครั้งนี้มาจากทางด้านนายสราวุธและนางสุรินทร์ คงกลาง ได้จัดงานบวชให้กับลูกชาย คือนาย ภูมิพัฒน์ หรืออั๋น คงกลางอายุ21ปี ซึ่งการบวชนาคในครั้งนี้ไม่เหมือนกับการบวชนาคทั่วไปของชาวจังหวัดลพบุรีเนื่องจากได้มีการนำนาคขึ้นไปนั่งบนหลังหงส์และก็พากันแห่จากบ้านของเจ้าภาพที่บริเวณอ่างเก็บน้ำซับเหล็กไปยังพระอุโบสถวัดเขาตระกร้าทอง ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี รวมระยะทางกว่า1กิโลเมตรโดยตลอดเส้นทางของการแห่ได้มีดนตรีบรรเลงเพลงอย่างเมามันสร้างความสนุกสนานให้กับนางรำและนายรำที่รำอยู่หน้าขบวนแห่แม้อากาศจะร้อนแค่ไหนทุกคนก็ไม่ย่อท้อสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ สำหรับขั้นตอนของการแห่หงส์บวชนาคจะใช้วัยรุ่นร่างกายแข็งแรงซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพื่อนๆของนาคอั๋นอย่างน้อยพลัดละ10 คนที่คอยหมุนเวียนเปลี่ยนกันเป็นขาหงส์ในช่วงที่แห่นาคที่นั่งอยู่บนหลังหงส์แบกคานทั้งสองข้างพร้อมกระโดดไปมาตามจังหวะเพลงให้เสมือนหงส์ที่กำลังบินไปตลอดเส้นทางจนสร้างความหวาดเสียวให้กับคนดูเกรงว่านาคจะล่วงหล่นลงมาแต่นาคก็ไม่หล่นครับจนนำนาคเข้ามาทำการอุปสมบทจนเสร็จสิ้นและเมื่อนาคได้บรรพชาจนสำเร็จเป็นพระภิกษุและได้ฉายาว่า พระอั๋น พันธนะมุตโต(แปลว่าผู้ที่หลุดพ้นจากสิ่งผูกรัดทั้งปวง)และได้เดินออกมาจากประตูพระอุโบสถโดยมีบรรดาญาติโยมต่างพากันเรียงแถวยืนใส่บาตรให้กับพระอั๋นและนอกจากนี้บรรดาเพื่อนๆของพระอั๋นได้มีการนอนเรียงกันเป็นแถวยาวเพื่อให้พระอั๋นได้เดินเหยียบบนหลังตามความเชื่อถือของโบราณว่าพระที่บวชออกมาจากโบสถ์ใหม่และยังไม่ได้เหยียบพื้นดินจะเป็นพระที่บริสุทธิ์และเมื่อผู้ใดที่มานอนให้พระเหยียบก็จะทำให้หายจากอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
ทางด้านนางสุรินทร์ แม่ของพระอั๋นกล่าวว่าตนเองเป็นคนจังหวัดพิจิตรและพอดีพ่อแม่ได้ย้ายถิ่นฐานมาทำมาหากินที่จังหวัดลพบุรีตนจึงได้ย้ายตามมาอยู่ที่ลพบุรีและตัวเองก็ได้มีลูกชายและได้ศึกษาจนจบและอายุได้ครบบวชตนจึงได้จัดงานบวชให้กับลูกชายโดยใช้ประเพณีของชาวจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นบ้านเกิดของตนตนจึงได้ไปนำเอาตัวหงส์มาจากจังหวัดพิจิตรซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณตนเองจึงไม่อยากให้ประเพณีนี้สูญหายไปสำหรับหงส์นี้เป็นสัญลักษ์ของจังหวัดพิจิตรตนจึงได้นำเอาประเพณีแห่หงส์บวชนาคในครั้งนี้มาให้ชาวจังหวัดลพบุรีในพื้นที่ที่ตนมาอาศัยอยู่ได้ชมกัน
สำหรับประเพณีการแห่หงส์ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน การบวชพระของชายหนุ่มในหมู่บ้านจะนิยมแห่ด้วยหงส์ ซึ่งนับว่าเป็นเอกลักษณ์ตามความเชื่อที่ว่าหงส์คือสัตว์ชั้นสูง
การแห่ด้วยหงส์จึงเป็นสิ่งที่เชื่อว่าเป็นมงคล และอีกนัยหนึ่งคือเป็นการสร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมพิธีและเป็นการทดสอบจิตใจของผู้ที่จะบวชว่าเข้มแข็งพอหรือไม่ การแห่นาคด้วยหงส์จึงเป็นเอกลักษณ์ของชาวโพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร และเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียว ที่มีการแห่นาคในแบบของการแห่งหงส์ ที่ทั้งสนุกสนาน แม้ว่าจะเหนื่อย แต่ก็สร้างความสนุกสนานและแฝงไว้ด้วยคติธรรมทั้งเรื่องของความอดทนของผู้ที่จะบวชพระและความสามัคคีของคนในชุมชนอีกด้วย. ใจรัก. วงศ์ใหญ่. ข่าว. อนันต์. อ่ำทอง. ภาพ/ข้อมูล. ศูนย์ข่าวหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ..จังหวัดลพบุรี.