ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)สู่การส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ประชารัฐ(ต้นแบบ)ชนิดพืชข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่5 บ้านโคกสาร ต.ซับพุทรา อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ นางสาวหนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ พร้อมคณะฯ ได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ ลงพื้นที่ตรวจติดตาม วางแผน ประเมินสถานการณ์สำรวจพื้นที่การทำฝนหลวงในเขตอำเภอชนแดน หลังจากได้รับการร้องขอจากประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากปัญหาฝนทิ้งช่วง ในฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ โดยมี นายชาครินทร์ อินอิ่มวรปราชญ์ นายอำเภอชนแดน พร้อมด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ และร่วมประชุมหาแนวทาง วางมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง
โดย นายสมาน โกษาจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)สู่การส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ประชารัฐ(ต้นแบบ)ชนิดพืชข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสมาชิก(ศพก.) จำนวนกว่า 200 ราย ได้ทำการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นำร่อง กว่า 5,000 ไร่ และในภาพรวมระดับอำเภอชนแดน มีเกษตรกรปลูกข้าวโพด มากถึงกว่า 100,000 ไร่ จึงนับเป็นอำเภอที่มีผู้ปลูกข้าวโพดมากสุดในจังหวัดเพชรบูรณ์
นายสมาน โกษาจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 กล่าวต่อว่า ซึ่งเมื่อถึงฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ ในห้วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ข้าวโพดกำลังออกดอกติดฝัก ต้องการน้ำฝนปริมาณมาก แต่พบว่าเกษตรกรต่างประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง จนข้าวโพดได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำการร้องขอไปยัง ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อให้รับทราบปัญหาภาวะความเสี่ยง และเข้ามาสำรวจพื้นที่ พร้อมประเมินสถานการณ์ เตรียมวางแผนทำฝนหลวง ช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที
จากนั้น นางสาวหนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ พร้อมคณะฯ ได้ร่วมทำการขึ้นบิน สำรวจพื้นที่ทางการเกษตร แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ห้วย หนอง คลอง บึง และแหล่งกักเก็บน้ำดิบของเกษตรกร ในเขตพื้นที่อำเภอชนแดน เพื่อนำข้อมูลไปประกอบแผนการทำฝนหลวง
และในเวลาต่อมา ทางคณะฯได้เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปยัง โครงการชลประทานเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อตรวจติดตาม วางแผน ประเมินสถานการณ์สำรวจพื้นที่การทำฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำป่าแดงและอ่างเก็บน้ำป่าเลา ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญ สำหรับผลิตเป็นน้ำประปาให้ประชาชนในพื้นที่ ต.ในเมือง ต.สะเดียงและต.ป่าเลา อ.เมืองเพชรบูรณ์ ได้ใช้อุปโภค บริโภค หลังจากก่อนหน้านี้ ต่างประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ
ราเมธ บงแก้ว/มนสิชา คล้ายแก้ว เพชรบูรณ์