อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาของประเทศไทยมานานนับสิบปี สร้างความสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สูงถึง 21,607 คน (จากข้อมูล 3 ฐาน ของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) โดยสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนประการหนึ่ง คือ เมาแล้วขับ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งในปี 2560 กฎหมายจราจรได้บังคับและปรับบทลงโทษของเมาแล้วขับให้หนักขึ้น ซึ่งกำหนดความหมายของเมาสุรา คือ มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 mg% ซึ่งกำหนดบทลงโทษไว้ทั้งจำทั้งปรับ และเพิ่มกฎหมายสำหรับผู้ขับขี่อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือใช้ใบขับขี่ชั่วคราวหากตรวจพบระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 mg% ถือว่าผิดกฎหมาย เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วผู้ขับขี่ไม่ยอมตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจให้สันนิษฐานว่า เมาสุรา ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจวัดทางลมหายใจได้ ให้พนักงานสอบสวนส่งผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่ายให้โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชนตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทุกรายภายใน 4 ชั่วโมง ในการดำเนินคดีสามารถใช้วิธีตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดทางลมหายใจด้วยเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ หรือด้วยการเจาะเลือดและตรวจทางห้องปฏิบัติการ หากพบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่ากฎหมายกำหนด ศาลอาจพิจารณาลงโทษ จำคุกหรือให้ใส่กำไลคุมประพฤติ (Elertronic Monitoring : EM) ระหว่างรอการลงโทษ
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 พบว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนโดยหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันวิเคราะห์ มาตรการและปัจจัยที่ทำให้การบาดเจ็บและเสียชีวิตลดลง ส่วนสำคัญมาจากการบังคับใช้กฎหมายเป็นมาตรการหนึ่งที่ส่งผลให้สถิติลดลง ทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรณีอุบัติเหตุจราจร ให้มีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ทุกรายทั้ง 2 ฝ่าย และเพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนสามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งปี เพื่อการป้องกันและควบคุมพฤติกรรมการดื่มแล้วขับ กระทรวงสาธารณสุข จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก ภายใต้ชื่อโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” ซึ่งได้รับความเห็นชอบในหลักการและความสำคัญของการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุ มีความจำเป็นในการดำเนินคดี และทำให้ผู้ขับขี่ได้ตระหนักและเกิดความเกรงกลัว ไม่ขับขี่รถหลังจากดื่มสุรา ซึ่งส่งผลให้อุบัติเหตุที่เกิดจากสาเหตุดื่มแล้วขับลดลง ดังนั้น กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก จึงเห็นควรให้การสนับสนุนงบประมาณในปี 2562 ให้กับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในส่วนของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะด้วยนั้น กำหนดมาตรการในเชิงป้องกันด้วยการตรวจสอบปริมาณแอลกอฮอล์
ในลมหายใจพนักงานขับรถและผู้ประจำรถทุกคนก่อนปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารและจุดจอดทุกแห่งทั่วประเทศ รวม 195 แห่ง หากตรวจพบพนักงานขับรถและผู้ประจำรถมีปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจเกิน 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สั่งเปลี่ยนตัวและส่งตัวดำเนินคดีตามกฎหมายทันทีเพื่อความปลอดภัย ทั้งยังมีมาตรการเอาผิดกับผู้ประกอบการขนส่งที่ไม่ควบคุมพนักงานขับรถและผู้ประจำรถ
ต้องมีส่วนรับผิดชอบทุกกรณี
จากการดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2561 ถึง 31 มีนาคม 2562 สถิติการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ส่งมาเบิกกับทางสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค มีผลการตรวจแอลกอฮอล์ทั้งหมด 1,873 ตัวอย่าง ซึ่งการส่งตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดยังมีจำนวนน้อย สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการประชาสัมพันธ์โครงการที่ยังไม่ครอบคลุม ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชน ดังนั้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการรับรู้ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนให้เข้าใจการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์อย่างทั่วถึง กรมควบคุมโรคจึงได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีการแถลงข่าวความร่วมมือในการดำเนินงานโครงการ “ขับขี่ปลอดภัย มั่นใจ ไร้แอลกอฮอล์” โดยให้สื่อมวลชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนทราบถึงการดำเนินโครงการ เกิดความตระหนักถึงผลที่ตามมา ไม่ดื่มสุราแล้วมาขับรถ รวมถึงสร้างความตระหนักให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน ให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย ทำให้มีความระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุลดลง จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงตามไปด้วย