วันนี้8มีนาคม2562ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สตูล ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆในจ.สตูล ร่วมบูรณาการโครงการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ (ภัยสึนามิ) โดยการฝึกซ้อมปฏิบัติ (Drill) ที่สวนสาธารณะเทศบาล ต.กำพง อ.ละงู จ.สตูล โดยมีนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานและผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การฝึกในครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอและศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินอปท. เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจ.สตูลที่อยู่ในพื่นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นการฝึกเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยจากสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้น ลดความสูญเสีย เข้าใจในการทำงานเป็นทีม
โดยการจำลองเหตุการจากการ เกิดจากแผ่นดินไหว ในทะเลบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย ขนาด 8.0 ริกเตอร์ เมื่อเวลา 10.00 น. ขณะนี้ได้รับการยืนยันจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแล้ว ว่าจะเกิดสึนามิ และซึ่งจะเข้าสู่ประเทศไทยเวลา 12.17 น. นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ผู้บัญชาการเหตุการณ์ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดสตูล ได้สั่งการให้หน่วยปฏิบัติการ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่ 452 และองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมสน ร่วมกันดูแลประชาชนที่จุดรวมพล ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแหลมสน อ.ละงู ซึ่งเป็นจุดที่ประชาชนตำบลแหลมสน รวมพลเตรียมอพยพและรับการช่วยเหลือ ได้อพยพประชาชน มายังศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่สวนสาธารณะ ต.กำแพง อ.ละงู โดยด่วน ซึ่งสามารถรองรับประชาชนได้ประมาณ 3,000 คน โดยในการอพยพประชาชนนั้นได้กำชับให้คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก และขอให้ประชาชนที่อพยพ ได้ช่วยดูแลบุคคลในครอบครัว หากมีปัญหาอื่นใดให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ให้นำสิ่งของติดตัวเท่าที่จำเป็นและสามารถถือหรือหิ้วไปได้ด้วยตัวเองเท่านั้น ที่สำคัญขอให้เชื่อฟังเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน และความปลอดภัยของทุกฝ่าย โดยที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวนั้น สามารถรองรับประชาชนได้กว่า 3,000 คน
ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนร่วมกันปฏิบัติงานเต็มกำลัง พร้อมให้การช่วยเหลือทุกท่านแล้วการซ้อมเสียงสัญญาณแจ้งเตือนแผ่นดินไหว และเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ผ่านระบบเตือนภัยในพื้นที่ชายฝั่งให้อพยพประชาชนไปในที่ปลอดภัย ประชาชน นักเรียนในพื้นที่ต่างอพยพทั้งวิ่ง เดินเท้าและมากับยานพาหนะต่างๆเข้ายังพื้นที่ศูนย์พักพิงบริเวณจุดอพยพ จากนั้นรถกู้ภัยออกช่วยเหลือผู้ประสบเหตุและค้นหาผู้สูญหาย นำผู้ประสบภัยส่งต่อรพ. ทั้งนี้เพื่อทดสอบขีดความสามารถของหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมบูรณาการ เพื่อให้การทำงานในเหตุการณ์จริงได้ราบรื่นและรวดเร็วในการช่วยเหลือแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุมทุกหน่วยต่อไปซึ่งการซ้อมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 300 คน
นิตยา แสงมณี // ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดสตูล