พิธีเปิด การฝึกคอบร้าโกลด์ ๑๙ ในส่วนการฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย ……………………………………………………………………………………
วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา พลโท ศิราวุฒิ วงศ์ขันตี เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ๑๙ ในส่วนการฝึกช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาสาธารณภัย (Humanitarian Assistance and Disaster Relief Exercise: HADR – X) ณ โรงแรมอมรินทร์ ลากูน จังหวัดพิษณุโลก และมีนาย Joseph Martin ผู้อำนวยการ Center for Excellence in Disaster Management & Humanitarian Assistance (CFE-DM) และ พลตรี จรัส ปัญญาดี เสนาธิการ กองทัพภาคที่ ๓ ให้เกียรติเข้าร่วมในพิธีเปิดครั้งนี้ด้วย
การฝึก HADR – X ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะ ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ โรงแรมอมรินทร์ ลากูน จังหวัดพิษณุโลก และการฝึกภาคสนาม ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ณ ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกฯ จาก ๙ ประเทศ ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และ อินเดีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการรับมือและตอบโต้ภัยพิบัติ ได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพมิตรประเทศ และความร่วมมือระหว่างภาคทหารและพลเรือนอีกด้วย
สำหรับการฝึกการแก้ปัญหาบนโต๊ะด้านภัยพิบัติ ประกอบด้วย
(๑) การบรรยายภาควิชาการ ในวันที่ ๑๑ และ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภัยพิบัติ บทบาท และความรับผิดชอบของประเทศผู้ประสบภัยในการตอบโต้ภัยพิบัตินานาชาติ การทำความเข้าใจถึงการประสานงานระหว่างภาคทหารและพลเรือน รวมถึงการใช้ทรัพยากรทางทหารในการตอบโต้ภัยพิบัติ
(๒) การฝึกการแก้ปัญหาบนโต๊ะ ในวันที่ ๑๒ และ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกสามารถวิเคราะห์ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว และเตรียมคำแนะนำสำหรับการสนับสนุนทหารในการตอบโต้ภัยพิบัติ รวมทั้งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความซับซ้อน การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากต่างประเทศในบริบทที่มีความขัดแย้ง
การฝึกการแก้ปัญหาบนโต๊ะฯ ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการฝึกฯ ประกอบด้วย ทหาร และผู้แทนภาคประชาสังคม จาก ๙ ประเทศ ได้แก่ ไทย ๔๒ นาย สหรัฐอเมริกา ๑๕ นาย สิงคโปร์ ๓ นาย อินโดนีเซีย ๒ นาย มาเลเซีย ๘ นาย เกาหลีใต้ ๑ นาย ญี่ปุ่น ๔ นาย จีน ๖ นาย และ อินเดีย ๙ นาย รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมจากต่างประเทศ ๗ นาย รวมทั้งสิ้น ๙๗ นาย