สำหรับวงการสถาบันการเงินในขณะนี้ กลับมาตื่นตัวกันอีกครั้ง เมื่อได้มีการปฏิรูประบบบริการชำระเงินรูปแบบใหม่ นั่นคือ “พร้อมเพย์” (PromptPay) โดยเป็นการพลิกโฉมระบบการโอนเงินและรับโอนเงิน ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยใช้แค่เพียงหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเลขประจำตัวประชาชนแทนการระบุเลขที่บัญชีเงินฝากของผู้รับเงิน
การปฏิรูปครั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบ อิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) และเศรษฐกิจดิจิทัล ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย 1. การใช้บัตร/รหัสอะไรก็ได้ในการชำระเงิน (AnyID) 2. กระจายจุดหรือเครื่องรับชำระเงิน (EDC) 3. เชื่อมโยงข้อมูลการใช้จ่ายกับกรมสรรพากร 4. เชื่อมโยงระบบสวัสดิการภาครัฐ และ 5.ให้สิทธิประโยชน์ แรงจูงใจเพื่อการประชาสัมพันธ์ ซึ่งให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนของระบบการชำระเงินโดยรวม และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ได้มีการเปิดตัวพร้อมเพย์ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา
บริการ พร้อมเพย์ (PromptPay) คืออะไร ?
บริการ พร้อมเพย์ (PromptPay) เป็นการให้บริการรับ-โอนเงินระหว่างกันแบบใหม่โดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีธนาคาร ใช้เพียงแค่หมายเลขโทรศัพท์มือถือ เลขประจำตัวประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Internet Banking Mobile Banking ATM เป็นต้น ทำให้การโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์มีความสะดวกสบายและปลอดภัย ทั้งนี้ การให้บริการพร้อมเพย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศไทย
ประโยชน์ของ บริการพร้อมเพย์ (PromptPay)
• สะดวก รวดเร็ว
– ประชาชนโอนเงินระหว่างกันได้สะดวกโดยใช้เพียงแค่หมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชน
– ประชาชนรับเงินจากภาครัฐเข้าบัญชีได้โดยตรงด้วยเลขประจำตัวประชาชน
• ปลอดภัย
-ลดความเสี่ยงจากการพกพาเงินสด ส่งมอบเงินสด และสามารถตรวจสอบรายการโอนเงินได้
การเก็บค่าธรรมเนียมของบริการ พร้อมเพย์ จะคิดตามวงเงินที่ได้ทำการโอนในแต่ละครั้ง ดังนี้
-โอนเงินไม่เกิน 5,000 บาท ไม่เสียค่าธรรมเนียม
-โอนเงินระหว่าง 5,000 – 30,000 บาท เสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาท
-โอนเงินระหว่าง 30,000 – 100,000 บาท เสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาท
-โอนเงินมากกว่า 100,000 บาท ขึ้นไปจะเสียค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาท
สิ่งแรกที่ผู้ใช้บริการต้องทำคือเลือกบัญชีเงินฝากที่ต้องการจะใช้เป็นบัญชีหลักในการรับเงิน โดยต้องเตรียมเอกสาร 3 อย่างในการลงทะเบียน 1. สมุดบัญชีหรือเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร 2. บัตรประจำตัวประชาชน และ 3. โทรศัพท์มือถือที่ต้องการลงทะเบียน หลังจากนั้นจึงไปแจ้งลงทะเบียนกับธนาคาร
โดย นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากบริการพร้อมเพย์ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ว่า
“ประโยชน์ที่ใกล้ตัวที่สุด คือ การโอนเงินและรับเงินในชีวิตประจำวันของเราจะสะดวกขึ้นมาก สามารถโอนเงินให้ครอบครัวและเพื่อนฝูงได้โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่เรามักจะจำได้ หรือบันทึกไว้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในส่วนของการรับเงินจากภาครัฐ เช่น เงินสวัสดิการ เงินช่วยเหลือ เงินคืนภาษี ก็จะสามารถรับตรงเข้าบัญชีได้ด้วยเลขประจำตัวประชาชนที่ผูกไว้กับบัญชีเงินฝากธนาคาร และที่สำคัญ ประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วน สามารถเปลี่ยนแปลงยกเลิกการผูกบัญชีได้ง่าย และสามารถเลือกใช้บริการได้อย่างอิสระ”
ด้าน ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขายและผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด(มหาชน) และที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาระบบ e-Payment ได้ออกมาตอบข้อสงสัยในระบบของพร้อมเพย์ ซึ่งระบุ
“ถามว่ามีอะไรเปลี่ยนหรือไม่ “ไม่มีอะไรเปลี่ยนเลย” เพราะฉะนั้น สิ่งที่แตกต่างคือเวลาประชาชนใช้ Mobile Banking เข้ามาในระบบผ่านธนาคาร ของเดิมเวลาจะสั่งโอนเงินต้องใส่เลขที่บัญชี ระบบใหม่นอกจากเลขที่บัญชีแล้ว เราสามารถใส่อย่างอื่นเพื่อระบุตัวตนได้ด้วย
ถามว่าต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหรือไม่ ไม่ต้อง ตื่นมาวันพรุ่งนี้จะมีช่องให้ใส่เลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน แทนที่จะต้องใช้เลขที่บัญชีอย่างเดียว จากทำธุรกรรมผ่านเลขที่บัญชีธนาคาร ก็เป็นผ่านหมายเลขประจำตัวอื่นๆ เช่น โทรศัพท์หรือเลขบัตรประจำประชาชน”
ทั้งนี้ สำหรับธนาคารที่เข้าร่วมจะเปิดให้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ (PromptPay) พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป แต่หากธนาคารใดมีความพร้อมก่อนก็อาจเปิดให้ลงทะเบียนก่อนกำหนดได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.คง 2559 โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุดในการรับลงทะเบียน และจะเปิดใช้บริการได้ในปลายเดือน ต.ค. 2559