‘เฟซบุ๊ก’ เริ่มปิดกั้นแสดงผลแฟนเพจไม่เหมาะสม สำหรับผู้ใช้งานในประเทศไทย คาดรัฐบาลขอความร่วมมือ…
เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 59 มีรายงานว่าในสังคมออนไลน์ได้มีการพูดคุยถึงเฟซบุ๊กแฟนเพจแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้ใช้งานจากประเทศไทยไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยมีการแสดงข้อความว่า “คุณไม่สามารถดูเนื้อหานี้ได้เนื่องจากกฎหมายในท้องถิ่นจำกัดความสามารถของเราในการแสดงเนื้อหานั้น”
จากการตรวจสอบแฟนเพจดังกล่าว พบว่าเป็นเพจที่มีผู้กดไลค์ประมาณ 3 หมื่นคน เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงเรื่องการเมือง มีภาพ เนื้อหา และสติ๊กเกอร์ที่ไม่เหมาะสมจำนวนมาก
สำหรับการปิดกั้นการเข้าถึงแฟนเพจที่ไม่เหมาะสมในครั้งนี้ เริ่มแสดงให้เห็นว่าทางเฟซบุ๊ก มีการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ตามข้อกำหนดมาตรฐานการใช้งานที่ระบุไว้ว่า “ในบางครั้ง รัฐบาลได้ขอให้เราลบเนื้อหาที่ละเมิดกฎหมายท้องถิ่น แต่ไม่ได้ละเมิดมาตรฐานชุมชนของเรา หลังการพิจารณาทางกฎหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วน หากเราพบว่าเนื้อหานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายภายใต้กฎหมายท้องถิ่น เราจะทำให้เนื้อหานั้นใช้งานไม่ได้ในประเทศหรือเขตแดนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กได้เปิดเผยรายงานคำร้องขอจากรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงองค์กรและมูลนิธิ โดยตัวอย่างเนื้อหาที่ได้รับการร้องขอ เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวยิว ซึ่งละเมิดข้อกฎหมายในเยอรมนี เฟซบุ๊กจึงพิจารณาจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานี้กับชาวเยอรมัน ซึ่งตามรายงานสถิติในปี พ.ศ. 2558 ช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.) พบว่ารัฐบาลไทยมีการร้องขอไปยังเฟซบุ๊ก 3 ครั้ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อคดีอาชญากรรม ปรากฏเป็นข้อมูลผู้ใช้ 3 ราย ไม่ปรากฏจำนวนการมอบข้อมูล และไม่ปรากฏจำนวนการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาแต่อย่างใด