” กกต.” คลอดแนวทาง 6ทำได้ 8ห้ามทำ ระหว่างประชามติร่างรธน. ย้ำ ออกตามกฎหมายประชามติ ไม่เจตนาลิดรอนสิทธิ-เสรีภาพของปชช.
29 เม.ย. 59 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการประชุมของกกต. เพื่อวางระเบียบและแนวทางต่อการกระทำและแสดงความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป ในระหว่างการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกกต. ได้ใช้เวลาเป็นเวลานาน และเมื่อเวลา 16.20 น. นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. แถลงผลการประชุม ดังกล่าวว่า ที่ประชุม กกต. ได้มีมติให้ออกร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559
เพื่อกำหนดลักษณะการกระทำและการแสดงความเห็น ที่ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความเห็นได้ แต่ต้องไม่มีลักษณะที่ไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ไม่มีความรุนแรง, ไม่ก้าวร้าว ไม่หยาบคาย ไม่เข้าข่ายปลุกระดม หรือข่มขู่ สามารถแสดงความเห็นได้ แต่ต้องไม่ผิดต่อกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) รักษาความสะอาด, พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมด้วย โดยรายละเอียดลักษณะที่ทำได้มีทั้งสิ้น 6 ลักษณะ ได้แก่
1. ได้ศึกษาศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วน จากเว็ปไซต์หรือสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็คทรอนิกส์ในการแสดงความห็นของตน
2.แสดงความเห็นโดยถ้อยคำที่สุภาพ
3. แสดงความเห็นที่มีความชัดเจน ไม่กำกวม อันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่า เป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง
4.การแสดงความคิดเห็น ได้นำเสนอ และอ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ ทั้งนี้บุคคลควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย
5. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนเพื่อแสดงความเห็นพร้อมเหตุผลประกอบ และ
6.การนำเข้า หรือโพสต์ ข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นพร้อมแสดงเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตนในเว็ปไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการส่งต่อ หรือ แชร์ ข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติม
นายธนิศร์ กล่าวด้วยว่า มติกกต. ยังกำหนดลักษณะของการแสดงความคิดเห็นที่ห้ามกระทำ คือ ห้ามแสดงความเห็นที่ทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง หรือเพื่อให้สำคัญผิดในวัน เวลาที่ออกเสียง หรือวิธีการลงคะแนนออกเสียง โดยมีลักษณะการกระทำต้องห้าม ใน 8 ประเด็น คือ
1.การสัมภาษณ์ผ่านสื่อฯด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
2.การนำเข้า หรือ การโพสต์ ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ในเว็ปไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งต่อ หมายถึงการแชร์ข้อมูลในลักษณะดังกล่าว,
3. การทำหรือส่งสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายอันมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่,
4.การจัดเวทีสัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชนตามกฎหมาย เข้าร่วม และมีเจตนาปลุกระดมทางการเมือง,
5.การชักชวนให้ใส่เสื้อหรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขาย การแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ในลักษณะรณรงค์ทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง
นายธนิศร์ กล่าวต่อว่า 6.การแจกเอกสาร ใบปลิว หรือแผ่นพับที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือ มีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย หรือปลุกระดมข่มขู่ เพื่อก่อความวุ่นวาย หรือการชุมนุมทางการเมือง
7.การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชน ที่นำไปสู่การปลุกระดม หรือสร้างความวุ่นวายในสังคม และ
8.การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตาม ขอคนในสังคม เพื่อให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งอันมีลักษณะปลุกระดมหรือขัดขวางการออกเสียง สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน สามารถรายงานหรือเสนอข่าวได้ตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ ด้วยความรับผิดชอบ เป็นกลาง โดยคำนึงถึงความเท่าเทียมกันและไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย
“สำหรับผู้ที่ลักษณะกระทำผิดตามที่กำหนดไปนั้น ให้ถือว่าผู้ที่ฝ่าฝืนต้องมีความผิดตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 กำหนด ซึ่งลักษณะที่ทำไม่ได้นั้นจะครอบคลุมถึงประชาชนทั่วไป คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), กรรมการ, อนุกรรมการ, เจ้าหน้าที่ของกรธ. หน่วยงานรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยซึ่งได้รับมอบหมายจากกรธ.ให้ช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ในบทบัญญัติและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ หากมีการเผยแพร่สาระของร่างรัฐธรรมนูญในทางที่ไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่พบเห็นการกระทำผิดดังกล่าวสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง แต่ต้องมีหลักฐานประกอบอย่างชัดเจนด้วย” นายธนิศร์ กล่าว
นายธนิศร์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการวินิจฉัยหรือตรวจสอบลักษณะหรือการกระทำใดของบุคคลที่เข้าข่ายผิดกฎหมายนั้น โดยหลักจะเป็นหน้าที่ของผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม คือ ตำรวจ อัยการ และผู้ตัดสินสุดท้ายว่าผู้นั้นมีความผิดหรือไม่ คือ ศาลยุติธรรม อย่างไรก็ตามเพื่อการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปในแนวทางเดียวกันและเข้าใจตรงกัน กกต. เตรียมเชิญหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาประชุมและชี้แจงในหลักปฏิบัติ อย่างไรก็ตามกกต.ยืนยันว่าการพิจารณาแนวทางว่ากระทำใดทำได้หรือไม่ได้นั้น ยืนอยู่บนฐานของกฎหมาย คือ พ.ร.บ.ประชามติฯ ไม่มีเจตนาที่จะลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และที่สำคัญการพิจารณารายละเอียดของประกาศกกต. ดังกล่าว ถือว่าให้มีผลบังคับใช้กับบุคคลที่มีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดตามข้อห้าม มีสิทธิถูกจับและดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น