เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวชื่นชมความสำเร็จในการปล่อยจรวดโซยุซ 2.1 บรรทุกดาวเทียม 3 ดวง ได้แก่ โลโมโนซอฟ, ไอสต์-2ดี และ แซมแซต-218 ขึ้นสู่วงโคจร จากฐานปล่อยอากาศยานแห่งใหม่ ชื่อวอสต็อกนี ในภูมิภาคอามูร์ เขตตะวันออกไกล แม้ว่าการยิงจรวดครั้งนี้จะล่าช้าจากกำหนดเดิม เนื่องจากขัดข้องทางเทคนิค โดยทะยานออกจากฐานยิงในเวลา 11.01 น. ตามเวลาท้องถิ่น
“ก็อย่างที่เขาพูดว่า ข้อพิสูจน์ว่าพุดดิ้งเป็นอย่างไรก็คือต้องกินดู การที่คุณปล่อยจรวดครั้งแรกได้ จึงเท่ากับยืนยันแล้วว่า ฐานปล่อยอากาศยานนี้พร้อมใช้งานแล้ว และนั่นก็คือ คุณทำได้แล้ว” ปูตินกล่าวกับเจ้าหน้าที่ประจำสถานีดังกล่าว และว่า
“ผมขอแสดงความยินดีกับทุกคน เราภูมิใจได้เลย นี่เป็นเรื่องสำคัญและจริงจังกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของรัสเซีย การที่เมื่อวานนี้เกิดความขัดข้องทางเทคนิคและต้องหยุดนั้น มันเกิดขึ้นได้ มันเป็นเรื่องธรรมดา” ปูตินกล่าวกับทีมงาน
การก่อสร้างฐานปล่อยอากาศยาน วอสต็อกนี เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 มูลค่าก่อสร้างราว 3-4 แสนล้านรูเบิล หรือราว 1.6-2.1 แสนล้านบาท เป็นโปรเจกต์ยักษ์ใหญ่ที่รัสเซียต้องการลดการพึ่งพาฐานยิงจรวดไบโคนูร์ ในคาซัคสถาน ที่คิดค่าเช่ารัสเซีย หลังหมดยุคสหภาพโซเวียต ตกปีละ 115 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,025 ล้านบาท
สำหรับดาวเทียมโลโมโนซอฟ ที่ปล่อยไปกับจรวดครั้งนี้ เป็นโครงการร่วมระหว่างนักวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตรวมถึงนักศึกษา นานาชาติ จาก เกาหลีใต้ แคนาดา สหรัฐอเมริกา โปแลนด์ เยอรมนี อิตาลี และสเปน เพื่อค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์คอสมิก เช่น รังสีแกมมา รังสีคอสมิก ซึ่งเป็นพลังงานสูงที่อยู่บนชั้นบรรยากาศของโลกใกล้ชั้นอวกาศและจักรวาล คาดว่าดาวเทียมโลโมโนซอฟจะใช้งานนาน 3 ปีในวงโคจร