นิทรรศการ “เทคโนโลยีเรือในทศวรรษหน้า” ครั้งที่ 3 จัดโดยกรมอู่ทหารเรือที่เพิ่งจบลงไป ไฮไลท์สำคัญของปีนี้อยู่ที่ “เรือดำน้ำ” ที่กองทัพเรือจัดหามาประจำการ
นี่เป็นแบบจำลองเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า รุ่น Type 039A ติดตั้งระบบ AIP ที่กลุ่มรัฐวิสาหกิจด้านอุตสาหกรรมทางเรือของจีนนำมาจัดแสดงภายในนิทรรศการ “เทคโนโลยีเรือในทศวรรษหน้า หรือชิฟเทค ครั้งที่ 3” ที่อิมแพค เมืองทองธานี เรือดำน้ำรุ่นนี้จะเข้าประจำการในกองทัพเรือไทยจำนวน 3 ลำ หากได้รับการอนุมัติจัดซื้อจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ความพิเศษของระบบ AIP คือ ทำให้เรือดำน้ำไม่ต้องลอยขึ้นบนผิวน้ำเพื่อเดินเครื่องยนต์ประจุไฟลงในแบตเตอรี่ ยืดเวลาปฏิบัติการใต้น้ำได้นานขึ้น
ส่วนนี่คือแบบจำลองเรือดำน้ำดีเซล-ไฟฟ้า DSME 1400 ที่บริษัทเอกชนเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้ต่อเรือฟริเกตสมรรถนะสูงให้กับกองทัพเรือไทย นำมาแสดง ล่าสุดกองทัพเรืออินโดนีเซียสั่งต่อเรือดำน้ำชั้นนี้แล้ว 3 ลำ
ผู้ช่วยผู้จัดการอู่ต่อเรือเกาหลีใต้ ระบุว่า จุดแข็งของเรือดำน้ำคือ การซ่อนพรางในทะเลยากต่อการค้นหาโดยเรือผิวน้ำหรืออากาศยาน ทำให้ปลอดภัยสูง ภารกิจสำคัญของเรือดำน้ำคือ การรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งในอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องแหล่งทรัพยากรแต่ละแห่ง มองว่ากองทัพไทยจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ
ไทยเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียรองจากญี่ปุ่นที่มีเรือดำน้ำ แต่นั้นเกิดขึ้นมาร่วม 60 ปีแล้ว ย้อนดูปัจจุบัน หากยกเว้น สปป.ลาว ซึ่งภูมิประเทศไม่ติดทะเล ไทยและกัมพูชาเป็น 2 ที่ยังไม่มีเรือดำน้ำ และมีปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน หากย้อนดูสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงทางทะเลพบว่าไทยยังมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-มาเลเซีย-เวียดนาม รวมถึงข้อพิพาททะเลจีนใต้ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในเส้นทางเดินเรือของไทย ไม่นับรวมปัญหาการทำมงผิดกฎหมาย การลักลอบขนยาเสพติด โจรสลัด การค้ามนุษย์ และการก่อการร้าย ซึ่งกองทัพเรือระบุว่าทั้งหมดคือความจำเป็นที่ต้องมีเรือดำน้ำ
ล่าสุดกระทรวงกลาโหม ให้กองทัพเรือศึกษารายละเอียดและงบประมาณ รวมถึงความจำเป็นที่ต้องจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้ง ซึ่งในระหว่างที่ลุ้นว่าจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ กองทัพเรือก็พยายามใช้ทุกเวทีชี้แจงสังคมไทยให้เข้าใจว่าทำไมราชนาวีไทยต้องมีเรือดำน้ำ.
ที่มา สำนักข่าวไทย