พม่าซื้อระบบจรวดต่อสู้อากาศยานที่ผลิตในรัสเซียรุ่นใหม่อีกรุ่นหนึ่งแบบเงียบๆ รายงานในเว็บบล็อกข่าวกลาโหมแห่งหนึ่งในรัสเซียเอง ได้เปิดเผยให้โลกภายนอกได้รับรู้เมื่อไม่นานมานี้ แต่กว่าสื่อกลาโหมต่างๆ จะไหวตัวกัน ก็ได้ล่วงเลยมาเกือบเดือน ทำให้ไม่มีผู้ใดทราบว่า การขนส่งหรือการรับมอบแล้วเสร็จไปหรือยัง ซื้อขายกันจำนวนกี่ระบบ รวมทั้งคำถามที่ใหญ่กว่าก็คือ กองทัพพม่า จะนำจรวดต่อสู้อากาศยานระบบใหม่ไปติดตั้งในแห่งใดบ้าง
ภาพที่เแผยแพร่ในเว็บบล็อกภาษารัสเซีย เมื่อวันที่ 11 ก.พ. แสดงให้เห็นการขนย้าย ยานล้อยาง 6×6 แบบ MZKT6922 ที่ท่าเทียบเรือทหาร ในบริเวณท่าเรือย่างกุ้ง และ นี่คือเป็นยานชนิดพิเศษ ที่สร้างขึ้นมาสำหรับติดตั้งแท่นยิงจรวดแบบอัตตาจร พร้อมระบบเรดาร์ และ ระบบควบคุมการยิง แบบตอร์ (Tor) และ แบบบุ๊ค (Buk)
ผู้เชี่ยวชาญที่สอบสวนกรณีเครื่องบินโดยสารสายการบินมาเลเซีย เที่ยวบิน MH17 ถูกยิงตกเหนือน่านฟ้ายูเครน เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2547 สรุปเมื่อปีที่แล้วว่า จรวดบุ๊คอยู่เบื้องหลังโศกนาฏกรรมโบอิ้ง 777-200ER ที่มีลูกเรือ 15 คนกับผู้โดยสาร อีก 283 รวมเป็นทั้งหมด 298 คน ไม่มีผู้ใดรอดชีวิต และ เชื่อว่าเป็นฝีมือฝ่ายกบฏแยกดินแดนใน จ.โดเน็ตส์ ทางตะวันออกของยูเครน ที่มีรัสเซียหนุนหลัง
“แพล็ตฟอร์ม” ที่ปรากฏในภาพถ่าย ที่ท่าเรือย่างกุ้งนั้น มีผ้าใบคลุมหลังคาเอาไว้ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ข้างบนได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญในเว็บข่าวกลาโหมหลายแห่ง ออกให้ความเห็นในสัปดาห์นี้ว่า รูปลักษณ์ทั้งด้านหน้าและด้านข้างของยาน 6×6 ปรากฏชัดว่า นั่น ยานพาหนะ หรือ “แชสซี” สำหรับติดตั้งระบบจรวดต่อสู้อากาศยานแบบตอร์ หรือ บุ๊ค
ตามรายงานของเว็บบล็อคข่าวกลาโหมภาษารัสเซีย แพล็ตฟอร์ม MZKT6922 อาจใช้ติดตั้งระบบจรวดต่อสู้อากาศยานอื่นๆ ได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งระบบจรวด Osa-1T และ T38 หรือ 9K33-1T “สติเล็ตโต” (Stiletto) แต่มีให้เห็นไม่มาก ทั้งในรัสเซียเองและในประเทศอื่นๆ ที่เป็นลูกค้า
เพราะฉะนั้นหลายฝ่ายจึงปักใจเชื่อว่า กองทัพพม่าได้กลายเป็นลูกค้ารายล่าสุด ของระบบจรวดตอร์ (Tor-M2E) หรือ ไม่ก็จรวดบุ๊ค (Buk-M2E)
ตามข้อมูลของบริษัทอัลเมซอัลเตย์ (Almaz Antey) ซึ่งผู้ผลิตระบบตอร์นั้น Tor-M2E เป็นรุ่นพัฒนาล่าสุด เป็นแบบยิงเร็ว (Fast Action) ในระยะใกล้ 12-16 กิโลเมตร และ บนความสูง 10 กม. จรวดที่ใช้ในระบบมีความเร็วสูงมาก คือ เกือบ 1 กม./วินาที สำหรับทำลายเป้าหมายทั้งเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ยานไร้คนบังคับ จรวดร่อน แม้แต่พวกสมาร์ทบอมบ์ หรือ “ลูกระเบิดอัฉริยะ” โดยสามารถตรวจจับและยิงทำลายได้ 4 เป้าหมายในคราวเดียวกัน ส่วน Buk-M2E เป็นระบบจรวดยิงระยะปานกลาง มีระยะยิงไกลราว 70 กม. และความสูงถึง 30 กม.
เป็นที่ทราบกันมานานว่า พม่าเคยซื้อ “ระบบอาวุธปล่อยนำวิถี” ต่อสู้อากาศยาน หรือ ระบบจรวดนำวิถีต่อสู้อากาศยาน ทั้งจากสหภาพโซเวียตเมื่อก่อน และ จากรัสเซียในวันนี้ เป็นจำนวน 2-3 ระบบ และ เคยนำออกแสดงในงานสวนสนามฉลองครบรอบปีของกองทัพมาอย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งได้แก่ระบบจรวด S-125 (Neva/Pchora) ทั้งติดตั้งบนแพล็ตฟอร์มตีนตะขาบและล้อยาง 6×6 รวมทั้ง 9K22 “ตุงกุสกา” (Tunguska) ซึ่งเป็นระบบต่อสู้อากาศยานอัตตาจร ที่ประกอบด้วยปืนใหญ่กับจรวด โดยพม่าเป็นเพียงชาติเดียวที่มีประจำการในย่านนี้
พม่ากับเวียดนามยังเป็นเพียง 2 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังมีระบบจรวด S-75 “ดวินา” (Dvina) หรือ SA-2 ซึ่งเป็นระบบต่อสู้อากาศยานเจ้าตำนาน กองทัพเวียดนามเหนือใช้ยิงเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ของสหรัฐตกระนาว ในยุทธการถล่มกรุงฮานอยปลายปี 2515 พม่าเคยนำ S-75 ออกแสดงในงานสวนสนามครบรอบปีของกองทัพในเดือน มี.ค.2556
ส่วนแพล็ตฟอร์ม MZKT-6922 เป็นสิ่งใหม่ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศนี้ ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์ปักใจเชื่อว่า อะไรก็ตามที่ติดตั้งบนยานล้อยาง 6×6 รุ่นนี้ ไม่น่าจะเป็นอย่างอื่น นอกเสียจาก ระบบจรวดต่อสู้อากาศยานแบบ Tor-M2E หรือ Buk-M2E
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พม่าซึ่งมีประชากรมากกว่า 56 ล้านคน เนื้อที่กว่า 676,000 ตารางกิโลเมตร มีชายฝั่งทะเลยาวเกือบ 2,000 กม. และ ชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้านอีก 6,500 กม. ได้ทุ่มเทงบประมาณมหาศาล ทั้งทรัพยากรณ์ต่างๆ อีกมากมาย ในการสร้างเสริมขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง ทั้งทางบก ทางทะเลและทางอากาศ
พม่ามักจะไม่เปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดหามากนัก โลกภายนอกจะได้เห็นก็ต่อเมื่อ มีการนำออกแสดงในโอกาสสำคัญต่างๆ เท่านั้น.
ที่มา Manager