รำลึก ๓๓๓ ปี ดาราศาสตร์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๒๒๘
นารายณ์มหาราชเจ้า จอมไผทดาราศาสตร์สยามสมัย ก่อเกื้อเปิดประตูประเทศสู่ไพ รัชภาคกีรติคุณกรุ่นเอื้อ อุ่นหล้าอารยะ
ลพบุรีแผ่นดินทองของไทย เลิศสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ศึกษาดาราศาสตร์เพริศพราย แพร่หลายเรียนรู้สู่สังคม
รุ่งอรุณเบิกฟ้าดาราศาสตร์ สังเกตภูมิภาคเหมาะสม
รู้ลึกรู้จริงชนนิยม อุดมวิทยาศาสตร์แสนดี
ทรงส่องกล้องจันทรุปราคา ศึกษา ณ พระที่นั่งเย็นนี้
ผ่านมาแล้ว ๓๓๓ ปี คือสิ่งดีสืบสานตลอดไป
ดาราศาสตร์ก้าวไกลก้าวหน้า พระปรีชาสามารถผ่องใส
พระสถิตด้วยเคารพรักรวมใจ พระนารายณ์จอมไผทไทยทั้งปวง
ผศ.ทัศนีย์ กระต่ายอินทร์
ผู้ประพันธ์
ปัจจุบันพระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็นหรือตำหนักทะเลชุบศร) ตั้งอยู่ที่ตำบลทะเลชุบศร ห่างจากตัวเมืองลพบุรีประมาณ ๔ กิโลเมตร สภาพปัจจุบันคงเหลือกำแพง ผนัง และสันดินปรากฏอยู่
พระที่นั่งไกรสรสีหราช หรือพระที่นั่งเย็น เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ณ เมืองลพบุรี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อทรงใช้เป็นสถานที่ประทับพักร้อน ทรงสำราญพระราชอิริยาบถ บันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชประพาสป่าล่าช้าง บริเวณภูเขาทางทิศตะวันออก แล้วจะกลับเข้าเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งองค์นี้ สร้างขึ้นในปีใดในรัชกาลของพระองค์ใดไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการที่พระองค์ได้ทรงต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากประเทศฝรั่งเศส ณ พระที่นั่งใน พ.ศ. ๒๒๒๘ จึงเป็นหลักฐานที่แน่ชัดว่าพระที่นั่งเย็นได้สร้างก่อน พ.ศ. ๒๒๒๘ องค์พระที่นั่งตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลชุบศรซึ่งในสมัยโบราณเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีเขื่อนหินถือปูนล้อมรอบ สภาพปัจจุบัน
พระที่นั่งไกรสรศรีหราชมีความสำคัญในฐานะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชใช้เป็นสถานที่สำรวจจันทรุปราคา เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๒๒๘ ร่วมกับบาทหลวงเจซูอิตและบุคคลในคณะทูตชุดแรกที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศสส่งมาเจริญสัมพันธไมตรี เหตุที่ได้ใช้พระที่นั่งเย็นเป็นที่สำรวจจันทรุปราคามีบันทึกของชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า “เป็นที่เหมาะสมมองท้องฟ้าได้ทุกด้าน และมีพื้นที่กว้างมากพอสำหรับที่จะติดตั้งเครื่องมือ” โดยในครั้งนั้นบาทหลวงคณะเจซูอิตได้เตรียมกล้องโทรทรรศน์ยาว ๕ ฟุตไว้ให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงทอดพระเนตรที่ช่องพระบัญชรที่เปิดออกสู่ลานพระระเบียง นอกจากนี้มีผู้คนราว ๔๖,๐๐๐ ถึง ๔๗,๐๐๐ คนซึ่งทำการล้อมป่าและภูเขาในการล่าช้าง ได้ชมจันทรุปราคาเต็มดวงด้วย โดยคราสจับเต็มดวงเมื่อเวลา ๔:๒๒:๔๕ นาฬิกา นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงได้ทอดพระเนตรด้วยกล้องส่องดาวขนาด ๑๒ ฟุตอีกด้วย และยังมีภาพการสำรวจจันทรุปราคาที่พระที่นั่งเย็นซึ่งชาวฝรั่งเศสวาดไว้เป็นรูปสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงสวมลอมพอก ทรงกล้องส่องยาววางบนขาตั้งทอดพระเนตรพระจันทร์จากสีหบัญชรของพระที่นั่งเย็น และตรงเฉลียงสองข้างสีหบัญชรด้านหนึ่งมีขุนนางหมอบกราบ อีกด้านหนึ่งนักดาราศาสตร์กำลังสังเกตการณ์โดยใช้กล่องส่อง และทอดพระเนตรสุริยุปราคาบางส่วนเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๒๓๑ จึงกล่าวได้ว่า การศึกษาวิชาดาราศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ณ พระที่นั่งเย็นเมืองลพบุรี
เนื่องในวาระครบรอบ ๓๓๓ ปี ดาราศาสตร์พระนารายณ์ ในวันอังคารที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ นี้ ชมรมอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี สมาคมดาราศาสตร์ไทย มูลนิธีสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านพระที่นั่งเย็น จึงกำหนดจัดงาน “รำลึก ๓๓๓ ปี ดาราศาสตร์พระนารายณ์” ขึ้นในวันอังคารที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ พระที่นั่งไกรสรสีหราช (พระที่นั่งเย็น) ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี ตั้งแต่เวลา ๑๖.๐๐ น. ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธาน มีการแสดงสัมโมทนียกถา โดย พระครูสุงัฒน์จันทโชติ (เจ้าคณะอำเภอโคกเจริญ) ร่วมกันสวดมนต์เจริญจิตภาวนาน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ รับมอบต้นกล้า “น้อยหน่าพระที่นั่งเย็น” (น้อยหน้าพระนารายณ์) เวทีเสวนา “ดาราศาสตร์ ๓ ยุคแห่งสยาม” ยุค ๑: รุ่งอรุณเบิกฟ้า ดาราศาสตร์แห่งสยามในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุค ๒: เจิดจ้า ดาราศาสตร์ไทยในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุค ๓: ฟ้าสีทองรองเรือง ดาราศาสตร์ในสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และร่วมส่องกล้องดูดาว
ใจรัก. วงศ์ใหญ่. ข่าว/ สมชาย. เกตุฉาย. ภาพ/ ศูนย์ข่าว 5 เหล่าทัพ. จ.ลพบุรี