เมื่อวันที่( 3 ธ.ค.61) เวลา 13.30 น. :นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศ เป็นประธานการประชุมการรณรงค์ทางเท้าปลอดภัย ใส่ใจไม่ขับขี่ ให้กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่เขตประเวศ โดยมีผู้แทนสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 3 ผู้แทนสถานีตำรวจนครบาลประเวศ อุดมสุข บางนาและพระโขนง ผู้แทนร้อยรักษาความสงบเขตประเวศ หัวหน้าส่วนราชการเขตประเวศ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่เขตประเวศ จำนวน 146 วิน เข้าร่วมการประชุม
นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผู้อำนวยการเขตประเวศ กล่าวว่า ในการประชุมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่เขตประเวศ จำนวน 146 วิน ครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกในด้านความปลอดภัยและวินัยการจราจรรวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้และทักษะในการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ถูกต้อง โดยขอความร่วมมือวินมอเตอร์ไซค์ ช่วงถนนศรีนครินทร์ และซอยสุภาพงษ์ ไม่ให้ใช้ช่วงเวลาเร่งด่วนรับส่งผู้โดยสาร ขึ้นมาบนทางเท้าและย้อนศร นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับประชาชน ที่เดินอยู่บนทางเท้าอีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบัน การใช้ชีวิตประจำวันนั้นมีความยากลำบากมากอยู่แล้ว เนื่องจากทางเท้ามีขนาดเล็กหรือไม่ได้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมสำหรับการเดิน และมีการซ่อมเเซมอยู่เกือบตลอดทั้งปี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการจราจรในกรุงเทพฯมีสภาพติดขัดมากขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้มีผู้ขับขี่จักรยานยนต์มีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ และมีผู้ขับขี่จักรยานยนต์บางกลุ่มใช้ทางเท้าเป็นเส้นทางลัดและสัญจรเพื่อความรวดเร็วในการเดินทางโดยไม่คำนึงถึงเรื่องต่างๆ อาทิ อันตรายที่จะเกิดแก่ผู้ใช้ทางเท้า ผู้ขับขี่จักรยานยนต์จะขับขี่โดยไม่สนใจว่าจะมีคนเดินอยู่หรือไม่ หากคนที่เดินอยู่เดินช้าก็จะบีบแตรใส่ เพื่อให้หลีกทาง โดยลืมไปว่าทางที่พวกเขาขึ้นมาใช้นั้นเป็นทางเท้า ไม่ใช่ทางสำหรับจักรยานยนต์ และบางครั้งถึงกับมีการใช้อารมณ์ในการให้คนที่เดินอยู่หลีกทาง ทำให้ผู้ใช้ทางเท้าต้องคอยระมัดระวังมากขึ้นเพราะไม่รู้ว่าจะมีจักรยานยนต์ขับขึ้นมาเมื่อไหร่และจะมีอุบัติเหตเกิดขึ้นตอนไหน
ผู้อำนวยการเขตประเวศ กล่าวอีกว่า การนำจักรยานยนต์ขึ้นมาขับขี่บนทางเท้านั้น ทำให้ทางเท้ามีความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิมจากสภาพที่เป็นอยู่ เนื่องจากทางเท้าไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อมารองรับการขับขี่จักรยานยนต์โดยเฉพาะ นอกจากนี้เมื่อทางเท้ามีการชำรุดมากขึ้นก็ยิ่งทำให้การเดินมีความยากลำยากมากขึ้น ทำให้การเดินเท้าในชีวิตประจำวันมีข้อจำกัดมากขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ทางเท้าในการสัญจรไปมา มีการละเมิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 (7) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารกคนป่วยหรือคนพิการ ในข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่ตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมที่พลเมืองพึงมีและพึงปฏิบัติ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการไม่ให้ความเคารพต่อกฏหมาย เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน รวมไปถึงชาวต่างชาติที่อาศัยและทำงานในเมืองไทย ในระยะหลังมีชาวต่างชาติก่อเหตุการณ์เดียวกันเพราะไม่มีความเกรงกลัวต่อกฏหมายและเห็นว่าเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ฯส่วนใหญ่ก็ขับขี่จักรยานยนต์บนทางเท้าได้และไม่ได้รับบทลงโทษใดๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการสำนักเทศกิจ และ ฝ่ายเทศกิจ 50 เขต เพิ่มอัตราค่าปรับจาก 500 บาท เป็น 1,000 บาท ซึ่งจากการที่กทม.ได้ออกมาตราการอย่างเข้มงวด โครงการจับจริง ปรับจริง จนสามารถจับผู้กระทำผิดได้กว่า 10,000 ราย แต่จำนวนผู้กระทำผิดก็ไม่ได้ลดน้อยลง ยังมีการกระทำความผิดฝ่าฝืนอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ต่อจากนี้ไปหากไม่เห็นผลอีกจะพิจารณาค่าปรับเพิ่มขึ้นไปอีกรวมถึงให้เจ้าหน้าที่ยึดรถจักรยานยนต์หรือสิ่งที่ใช้กระทำความผิด จนกว่าผู้ขับขี่จะนำเงินมาจ่ายค่าปรับจึงจะคืนรถ และให้เจ้าหน้าที่ตั้งจุดกวดขันบนถนนหลัก 233 สาย ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของ กรุงเทพมหานคร ไม่ได้ต้องการค่าปรับจากผู้ขับขี่ที่กระทำความผิด แต่ต้องการสร้างจริยธรรมทางจิตใจ เพื่อให้มีความรับผิดชอบทางสังคมเพิ่มขึ้น สร้างความปลอดภัยและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ทางเท้าทุกท่าน ทำให้สังคมของคนกรุงเทพฯกลับมาเป็นสังคมที่น่าอยู่อีกครั้ง
…………………………..
วัฒนา เทศกิจเขตประเวศ..รายงาน